“สร้างการมีส่วนร่วม สร้างเมือง สร้างกรุงเทพอย่างยั่งยืน” ประชุมคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567
image

“สร้างการมีส่วนร่วม สร้างเมือง สร้างกรุงเทพอย่างยั่งยืน” ประชุมคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก

(18 มิ.ย.67) เวลา 09.30 น. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ความสำคัญของคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต และแนวทางการทำงานของคณะขับเคลื่อนฯ 

โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 9 เขต ซึ่งประกอบด้วยประธานคณะขับเคลื่อนฯ และคณะขับเคลื่อนฯ จำนวน 4 ท่าน พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารเขต กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมรามคำแหง สำนักงานเขตสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร

การนี้ สำนักงานเขตคลองสามวา นำโดยนายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมด้วยนายธนัฐจ์กร ภิรัฐพงศ์ธนากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสามวา และนายสายัณห์ กุศลพันธ์ หัวหน้าฝ่ายโยธา เข้าร่วมประชุม และสำหรับคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตคลองสามวา นำโดยนายณรงค์ ทัศนนิพันธ์ ประธานคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตคลองสามวา พร้อมด้วยนายสิทธิพร ลีลานภาศักดิ์ คณะขับเคลื่อน นางนิรดา วงศ์อนันต์กุล ผู้ช่วยเลขานุการ และนางสาวกรรณิการ์ สว่างประเสริฐ คณะทำงานฯ ด้านการศึกษา เข้าร่วมการประชุม เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ความสำคัญของคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต และแนวทางการทำงานของคณะขับเคลื่อนฯ 

คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต เกิดขึ้นภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี 28 ประเด็นพัฒนา + 22 เป้าหมายเร่งด่วน แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีบริบทร่วมกันขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาเขต ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิต “เมืองเศรษฐกิจ โอกาส และความหวัง” การร่วมสร้างสรรค์เมือง เพิ่มศักยภาพในการส่งเสริมเศรษฐกิจ การต่อยอดผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร การจัดกิจกรรมการส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างเมืองด้วยความร่วมมือจากทุกคน การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างสะดวกสบาย การจัดหาพื้นที่เอกชน หรือพัฒนา Hawker Center รองรับผู้ค้าหาบเร่ 

ด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียว “เมืองยั่งยืน พลังงานและสิ่งแวดล้อม” การร่วมกันดูแล บำรุงรักษาเมืองอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อมยั่งยืน กิจกรรมการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้ล้านต้น การเพิ่มสวน 15 นาที เพิ่มพื้นที่สีเขียว การใช้รถ EV เก็บขยะ การใช้รถอัดฟางข้าว แทนการเผา แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้านการศึกษาและเทคโนโลยี “เมืองสร้างสรรค์การศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต” การพลิกโฉมให้เมืองน่าอยู่ผ่านแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง แก้ไขปัญหาเส้นเลือกฝอย ระบบ Traffy Fondue การขับเคลื่อนเมืองผ่านระบบบริหารจัดการแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระบบการรับบริการ BMA OSS การปรับปรุงด้านกายภาพโรงเรียน ให้น่าอยู่น่าเรียน เป็นแหล่งการศึกษาอย่างยั่งยืน

ด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการจราจร “เมืองเดินทาง เส้นทางและสายน้ำ” พัฒนาระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการจราจร การพัฒนาเส้นทางจักรยานร่วมกับอาสาจักรยาน การลอกท่อ/ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม ด้านความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยของเมือง “เมืองปลอดภัย สุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน” การขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชน “ไม่เทรวม” การติดตั้ง ซ่อมแซม ไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ การพัฒนาถนนสวย และด้านอื่นๆ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่เขต

ซึ่งแต่ละด้านข้างต้นนี้ ถือว่าเป็นแนวทางการดำเนินงานของคณะขับเคลื่อนฯ ที่สามารถนำประเด็นการพัฒนาหรือประเด็นการแก้ไข ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุด สามารถร่วมกันพัฒนาเมือง สร้างเมือง สร้างกรุงเทพอย่างยั่งยืน

“คณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขต” ภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มาร่วมกันดูแล พัฒนาพื้นที่ และขับเคลื่อนสังคม ให้มีความเจริญก้าวหน้า พี่น้องประชาชนมีความสุข เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยการพัฒนาเมืองจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกส่วนราชการ ที่มีความรู้ ความสามารถและมีศักยภาพ เข้ามาร่วมพัฒนาเขต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันแก้ปัญหาและเสนอทิศทางการพัฒนาเขตเชิงพื้นที่ให้มีความครอบคลุมรอบด้าน