#คลองสามวา >>> รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดสวน 15 นาที เขตคลองสามวา 3 แห่งใหม่ จับมือชุมชนฯ ร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ ร่วมกันดูแลรักษา

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566
image

#คลองสามวา >>> รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดสวน 15 นาที เขตคลองสามวา 3 แห่งใหม่ จับมือชุมชนฯ ร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ ร่วมกันดูแลรักษา

(24 ส.ค.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดสวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง พื้นที่เขตคลองสามวา โดยมีนายนายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตคลองสามวา และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม ณ สวนสามวาประชาสุขสันต์ สวนเจริญสุข สุขสำราญพัฒนา และสวนราษฎร์ร่วมใจ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา คณะผู้บริหารเขตคลองสามวา และประชาชนในพื้นที่ ได้เดินเยี่ยมชมพื้นที่ภายในสวน และร่วมกันปลูกต้นไม้ บริเวณสวนสามวาประชาสุขสันต์ และสวนเจริญสุข สุขสำราญพัฒนา และร่วมปล่อยพันธุ์ปลา ณ สวนราษฎร์ร่วมใจ

#สวนสามวาประชาสุขสันต์ เป็นพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 82 ใกล้หมู่บ้านเนเบอร์โฮม พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ปรับภูมิทัศน์ 70% ทางเดิน วิ่งออกกำลังกาย 20% บ่อน้ำ 10% ชนิดต้นไม้ภายในสวน ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น ได้แก่ ต้นนนทรี ต้นอินทนิล ต้นรวงผึ้ง ต้นหางนกยูง ต้นข่อย ไม้พุ่ม ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี และต้นแสงจันทร์ ต้นไม้อื่นๆ ได้แก่ พุดชมพู ต้อยติ่ง ไทรยอดทอง ชาฮกเกี้ยน หญ้ามาเลเชีย บัวแดง เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้และความสะอาดบริเวณโดยรอบๆ พร้อมทั้งออกแบบพื้นที่ ปรับพื้นที่ ขุดบ่อ ลงหินทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย และติดตั้งป้ายสวน โรงเรียนวัดแป้นทอง จัดทำป้ายชื่อสวน สำนักการโยธา สนับสนุนหินและแอสฟัลท์ ประธานชุมชนสุขสำราญพัฒนา สนับสนุนบัวแดง สำนักสิ่งแวดล้อม สนับสนุนต้นไม้ ได้แก่ ต้นหางนกยูง ต้นกระดุมทอง ต้นไทรยอดทอง ต้นชาฮกเกี้ยน หมู่บ้านเนเบอร์โฮม สนับสนุนทางเข้า-ออก และที่จอดรถ

#สวนเจริญสุขสุขสำราญพัฒนา ตั้งอยู่บริเวณริมคลองลำแบน ชุมชนสุขสำราญพัฒนา ซอยหทัยราษฎร์ 41 พื้นที่ 1 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ปรับภูมิทัศน์ 65% ทางเดินวิ่งออกกำลังกาย 35% ชนิดต้นไม้ภายในสวน ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น ได้แก่ ต้นพะยูง ต้นมะค่าโมง ต้นรวงผึ้ง ต้นล่ำซำ ต้นกันเกรา ไม้พุ่ม ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี ไม้เลื้อย ได้แก่ ต้นเฟื่องฟ้า ต้นเข็ม ต้นไม้อื่นๆ ได้แก่ หญ้านวลน้อย สวนดังกล่าว ประธานชุมชนสุขสำราญพัฒนา เป็นผู้ออกแบบพื้นที่ โดยมีแนวคิดอยากมีพื้นที่ออกกำลังกายใกล้ชุมชนและเห็นพื้นที่บริเวณดังกล่าวรกร้างอยู่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้สนับสนุนดิน หิน ต้นไม้ หญ้า และเชิญชวนประชาชนในชุมชนร่วมดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้า ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ พร้อมทั้งจัดทำป้ายชื่อสวนพร้อมติดตั้งป้าย เขตฯ ช่วยดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ และสนับสนุนรถบรรทุกดินและหินมาลงพื้นที่ รวมถึงปรับพื้นที่ ดำเนินการลงหินทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย สำนักการโยธา สนับสนุนหินและแอสฟัลท์

#สวนราษฎร์ร่วมใจ เดิมเป็นบึงทรายกองดิน เป็นพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่บริเวณถนนราษฎร์ร่วมใจ ซอยประชาร่วมใจ 62 ถนนราษฎร์ร่วมใจ (แยกบาแล) พื้นที่ 3 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ปรับภูมิทัศน์ 60% บ่อ 20% ทางเดินวิ่งออกกำลังกาย 20% ชนิดต้นไม้ภายในสวน ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น ได้แก่ ต้นหางนกยูง และต้นอินทผาลัม ไม้พุ่ม ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี และต้นโมกด่าง ไม้เลื้อย ได้แก่ ต้นเฟื่องฟ้า ต้นไม้อื่นๆ ได้แก่ ชาฮกเกี้ยน ไทรยอดทอง ผักเป็ดแดง ต้อยติ่ง กระดุมทอง บัวอเมซอน หญ้าแดงอเมริกัน หญ้านวลน้อย และบัวแดง เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ และความสะอาดบริเวณโดยรอบๆ นำดินและหินมาลงพื้นที่พร้อมทั้งดำเนินการออกแบบพื้นที่ ปรับพื้นที่ ขุดบ่อ ทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย และติดตั้งป้ายสวน สำนักการโยธา สนับสนุนหินและแอสฟัลท์ สำนักสิ่งแวดล้อม สนับสนุนต้นไม้ ได้แก่ ต้นหางนกยูง กระดุมทอง ไทรยอดทอง ชาฮกเกี้ยน โมกด่าง และผักเป็ดแดง) กรมประมงให้การสนับสนุนพันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยในบ่อ ประธานชุมชนสุขสำราญพัฒนา สนับสนุนบัวแดงและป้ายชื่อสวน ร้านขายเป็ด สนับสนุนสถานที่จอดรถ ห้องน้ำ ที่นั่งพัก ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ปลูกต้นอินทผาลัม เมื่อครั้งร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯ สัญจร เขตคลองสามวา

ปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งหรือพื้นที่ทำกิจกรรม ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจ มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร มีสวนสาธารณะหลัก 40 แห่ง กรุงเทพมหานครได้จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวโดยจัดกลุ่มเป็นสวน 7 ประเภท ได้แก่ สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนหมู่บ้าน สวนชุมชน สวนระดับย่าน สวนระดับเมือง สวนถนน สวนเฉพาะทาง อย่างไรก็ตามการจัดกลุ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะนี้ยังไม่สามารถแยกได้ว่าสวนไหนใช้งานได้หรือไม่ได้ เช่น สวนถนน นับรวมสวนไหล่ทาง สวนเกาะกลาง หรือสวนหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ อีกทั้งในพื้นที่โซนกรุงเทพตะวันออกมีพื้นที่สวนสาธารณะน้อยมาก รวมถึงพื้นที่เขตคลองสามวา ทั้งนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ โดยมีเป้าหมายการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที ซึ่งนโยบายสวน 15 นาที ยังช่วยในการนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่า มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพให้ดีขึ้น ช่วยลดจุดเสี่ยงสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชน ชุมชนปลอดภัย สังคมปลอดภัย

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี