เปิดเทอมใหม่ ก็จะสดใสซาบซ่า ... บรรยากาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนสังกีดสำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร คึกคัก

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
image

เปิดเทอมใหม่ ก็จะสดใสซาบซ่า ... บรรยากาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนสังกีดสำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร คึกคัก

(16 พ.ค.67) เวลา 07.00 น. นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา มอบหมายให้นายธนัฐจ์กร ภิรัฐพงศ์ธนากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมด้วยนางสาวศิริวิบูรณ์ รุนกระโทก หัวหน้าฝ่ายการศึกษา พร้อมด้วย ดร.นรินทร์ บุตรพรม ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนักเรียน ต้อนรับเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “9 ดี 9 ด้าน” #เรียนดี ได้ให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยอย่างรอบด้าน ระบบการจัดการศึกษาอย่างเข้มข้น เด็กนักเรียนมีความสุข

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 คณะ ซึ่งคณะที่ 1 นำโดยผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสามวา และคณะที่ 2 นำโดยหัวหน้าฝ่ายการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละโรงเรียน จำนวน 18 โรงเรียน ร่วมให้ข้อมูล

ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ได้เน้นย้ำและกำชับ "ด้านการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด ผู้ปกครองหรือผู้ประกอบการรถตู้ ที่ใช้รถตู้ในการรับ-ส่งนักเรียน ตรวจสอบภายในรถตู้ทุกครั้ง เมื่อส่งนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว การดูแลการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน การอำนวยความสะดวกให้นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป การรณรงค์สวมใส่หมวกกันน็อคของเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ในการเดินทางมารถโรงเรียน

ความเรียบร้อยในการปรับปรุงและแก้ไขด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน การซ่อมแซมโรงเรียน (งบประมาณค่าซ่อมแซมฯ) อาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่น รวมถึงวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน สะอาดและปลอดภัย

ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียน การติดตั้งสายดินของเครื่องทำน้ำเย็น ต้องมีความปลอดภัย ระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจเช็คสภาพถังดับเพลิงให้มีความพร้อมในการใช้งานอยู่เสมอ

การควบคุมดูแลความสะอาด การประกอบอาหารของแม่ครัว ความสะอาดของโรงอาหาร ภาชนะเครื่องใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนปื้อนในอาหาร การติดตั้งถังดักไขมัน การดูแลจัดการอาหารเช้า กลางวัน แก่เด็กนักเรียน ถูกหลักโภชนาการ และมีปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอกับนักเรียน เด็กต้องอิ่มท้องสมองดี รวมถึงกำชับให้คุณครู ตรวจสอบคุณภาพอาหาร ร้านค้า แผงลอย หน้าสถานศึกษา จัดจำหน่ายแก่นักเรียนบริเวณหน้าโรงเรียน พร้อมเข้มงวด ห้ามจำหน่ายอาหาร ขนม ของเล่น ที่อาจจะเป็นอันตรายแก่นักเรียน"

สำคัญที่สุดภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยได้ให้ความสำคัญ #นโยบายเรียนดี โดยได้มอบนโยบายและจุดเน้นด้านการศึกษา ปีการศึกษา 2567 (เมื่อวันที่ 9 พ.ค.67) ไว้ว่า 

"การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากแต่คนไม่ค่อยพูดถึง ประเทศชาติหรือกรุงเทพมหานครไม่มีทางจะเจริญได้ถ้าการศึกษาเราไม่ดี เพราะว่าคนคือทรัพยากรของประเทศ ของเมือง กทม. ดูแลเด็ก 253,000 คน ถ้าเด็กไม่มีคุณภาพ คนด้อยคุณภาพ ต่อให้เราปลูกฝังเรื่องความยั่งยืน ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม หรืออะไรต่างๆ ทุกอย่างจะไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าคนมีคุณภาพอย่างอื่นจะไปได้ เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ห้องนี้คือคนที่มีความสำคัญมากต่ออนาคตของกรุงเทพมหานคร อนาคตของประเทศชาติ

2 ปีที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามาก พยายามเอางบประมาณมาลงในโรงเรียน พยายามดูแลครู พยายามปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เพราะเชื่อว่านี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เทรนด์หนึ่งที่สำคัญในอนาคต คือ Learning จะสำคัญกว่า Education ทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างกันอย่างไร Education คือการเรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นเตรียมให้เรา แต่ Learning คือเรียนรู้จากตัวเราเอง เรียนรู้จากสิ่งที่เราอยากเรียน Education คือหลักสูตรพื้นฐานที่จำเป็น แต่ในอนาคตเด็กจะอยู่ได้ในโลก ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เด็กต้องรู้จัก "เอ๊ะ" พอเอ๊ะแล้วก็เรียนรู้ถึง "อ๋อ" และ "โอเค" เมื่อนำไปใช้ ดังนั้นบรรยากาศในห้องเรียนต้องสร้าง Learning ให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กนำไปขยายต่อยอดได้

การพัฒนาการศึกษาอาจจะมีอยู่ 4 ข้อ เรื่องแรก คือ เรื่องกายภาพและโรงเรียน เช่น ห้องน้ำ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเด็กเรียน ลานกีฬา ต้องดีมีความพรัอ, โรงเรียนไหนที่มีข้อบกพร่องต้องรีบปรับปรุงกายภาพให้ดี เรื่องที่ 2 เรื่องครู ไม่มีทางที่การศึกษาจะดีได้ถ้าครูไม่มีกําลังใจ ครูเสียเวลาทำงานเอกสาร หรือทำเรื่องไม่ใช่เรื่องของนักเรียน ก็มีแนวคิดจะคืนครูให้กับนักเรียน มีธุรการมาช่วย พยายามปรับเรื่องการปรับวิทยฐานะให้ง่ายขึ้น

เรื่องที่ 3 เรื่องหลักสูตร ทำอย่างไรให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำอย่างไรให้เด็กอยากเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องแข่งกันมาเรียนโรงเรียนดังๆ อันนี้คือหัวใจ และจะแก้ปัญหาสังคมได้หลายมิติ เด็กมีเวลาอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น ลดปัญหาการจราจร เรื่องที่ 4 เรื่องผู้ปกครอง เชื่อว่าบริบทของผู้ปกครองเบื้องต้นสำคัญ เพราะผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับเด็กมาก ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนรู้ของเด็ก เอาผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญและเราต้องพยายามเดินหน้าไปพร้อมกัน

#เรียนดี