สนง.เขตคลองสามวา "เตือนให้ประชาชนกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก"

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“มหานครแห่งความปลอดภัย”
เขตคลองสามวาเตือนให้ประชาชนกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก
นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กทม. กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้ มีฝนตกเป็นช่วงๆ ซึ่งเป็นการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำขังต่างๆ
เช่น ยางรถยนต์ จานรองกระถางต้นไม้ ประกอบกับประชาชนอาจกักเก็บน้ำในภาชนะ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น
อันอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะได้ซึ่งการฉีดพ่นสารเคมีหรือหมอกควันกำจัดยุงลาย เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ
และไม่สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกได้อย่างถาวร
สำนักงานเขตคลองสามวา มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการตัดวงจรการเกิดยุงลาย
โดยใช้มาตรการ 5 ป.และ 1 ข. ประกอบด้วย
1. เปลี่ยน = เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
2. ปิด = ปิดภาชนะ น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
3. ปล่อย = ปล่อยปลาหางนกยูง กินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว, ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีในบ้าน และในโรงเรียน
4. ปรับปรุง = ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน เก็บภาชนะหรือวัสดุที่น้ำขังได้ออก ไม่ให้เป็นที่เกาะพักและวางไข่ของยุงลาย
5. ปฏิบัติเป็นประจำ = ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
และ 1 ข. ขัดไข่ยุงลาย เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ จะฟักตัวเป็นลูกน้ำแต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วม
ก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้น เมื่อมีน้ำมาท่วมเมื่อใด ไข่ก็พร้อมแตกตัวเป็นลูกน้ำภายใน 30 นาที จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะ โดยใช้ใยขัดล้าง
หรือ แปรงชนิดนุ่มช่วยในการขัดล้าง และ ทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดิน เพื่อให้ไข่แห้งตาย ไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งน้ำใสนิ่ง ทำให้ไข่บางส่วนรอด
และเจริญเป็นลูกน้ำและยุงลายได้