ขานรับนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติ “สนับสนุนผ้าอนามัย” นำร่องมอบผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนสำหรับนักเรียนหญิง ม.1-3 รร.สังกัดสำนักงานเขตคลองสามวา โดยที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
image

(12 ก.ค.65) เวลา 11.00 น. ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานกิจกรรม “ส่งมอบผ้าอนามัยฟรีให้แก่นักเรียน” ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้กำหนดนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรีเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัวและลดความเสี่ยงของปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา โดยมีนางสาวนฤมนนันท์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา นางสาวอำไพ สินสถาพรพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานเขตคลองสามวา ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตคลองสามวา ครูและนักเรียน เข้าร่วม ณ โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

สำนักงานเขตคลองสามวา โดยนายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้กำหนดนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรีเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัวและลดความเสี่ยงของปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมา โดยนำเสนองบประมาณผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตคลองสามวา ภายใต้ชื่อ “โครงการเสริมสร้างความรู้และสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนสำหรับนักเรียนหญิง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 - 3 ฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขตคลองสามวา” โดยมีกลุ่มเป้าหมายนำร่องเป็นนักเรียนหญิงที่เรียนอยู่ระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 จำนวน 875 คน จาก 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) โรงเรียนวัดคู้บอน (วัฒนานันท์อุทิศ) โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ (บุญมีอนุกูล) และโรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ

สำหรับการมอบผ้าอนามัยฟรีให้แก่นักเรียนหญิง ในระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 จำนวนทั้งสิ้น จำนวน 875 คน แบ่งออกเป็น โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) 412 คน จำนวน 23,072 ชิ้น โรงเรียนวัดคู้บอน (วัฒนานันท์อุทิศ) 216 คน จำนวน 12,096 ชิ้น โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ (บุญมีอนุกูล) 132 คน จำนวน 7,392 ชิ้น และโรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ 115 คน จำนวน 6,440 ชิ้น โดยจะมอบให้นักเรียนเฉลี่ยอย่างน้อยละ คนละ 2 ชิ้นต่อวัน และเฉลี่ยจำนวน 7 วัน ที่มีประจำเดือน ซึ่งจะนำร่องมอบในห้วงเวลาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 (เดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน) รวมจำนวน 4 เดือน และคาดว่าจะมอบอย่างต่อเนื่องในภาคเรียน และปีการศึกษาต่อ ๆ ไป

และก่อนหน้านี้ ในระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการอบรมการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพให้มีสุขอนามัยที่ดีสำหรับช่วงวัยเจริญพันธุ์ให้กับนักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมศึกษา เสริมสร้างความรู้และสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนสำหรับนักเรียนหญิง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 - 3 ฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขตคลองสามวา” โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตคลองสามวา เข้ารับการอบรม โดยมีหลักสูตร 3 ชั่วโมง ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องร่างกายของฉัน พัฒนาการทางของวัยรุ่นชาย พัฒนาการทางเพศของวัยรุ่นหญิง ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับภาวการณ์มีประจำเดือน การทำความเข้าใจมนุษย์เมนส์ วิธีนับรอบเดือนคนที่จะนับไข่ตกได้ การเตรียมรับมือก่อน ประจำเดือน มา วิธีรับมือเมื่อประจำเดือนมา วิวัฒนาการของผ้าอนามัย ประจำเดือนมาใช้ผ้าอนามัยแบบไหนดี วิธีลดอาการปวดท้องประจำเดือน ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับประจำเดือน วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนถามตอบ เรื่องเกี่ยวกับการมีประจำเดือน สุขศึกษาทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้การสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพให้มีสุขอนามัยที่ดีสำหรับช่วงวัยเจริญพันธุ์

การสนับสนุนนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรีฯ เป็นเรื่องที่สำคัญมากควรผลักดันสู่การปฏิบัติโดยเร็ว แต่เนื่องจากกรุงเทพมหานครยังไม่ได้กำหนดหรือจัดสรรงบประมาณ จึงได้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายผ่านงบประมาณของกองทุนหลักสุขภาพเขตคลองสามวา ซึ่งการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือน (ผ้าอนามัย) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสำหรับนักเรียนหญิงโดยวิธีการที่ทางโรงเรียนกำหนด เพื่อเป็นการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพให้มีสุขอนามัยที่ดีสำหรับช่วงวัยเจริญพันธุ์ สนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนสำหรับนักเรียนหญิง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 - 3 อย่างเร็วที่สุด ได้อย่างเพียงพอ และไม่เกิดปัญหาด้านสุขภาพ อันเนื่องมาจากภาวะที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนได้ (Period Poverty) ตลอดจนเด็กนักเรียนหญิง รู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ และสร้างโอกาสอันเท่าเทียมให้กับนักเรียนหญิงทุกคน ที่จะสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนได้ พร้อมขจัดความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กผู้หญิง จะต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ผ้าอนามัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองและเด็กผู้หญิง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนในการดูแลสุขอนามัย ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องเกิดผลกระทบต่อกลุ่มเด็กผู้หญิง จากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ ที่เรียกกันว่า “ภาวะที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนได้ (Period Poverty)” และแน่นอนว่าผลกระทบของ Period Poverty นอกจากจะเป็นการที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้แล้ว ยังส่งผลในชีวิตประจำวันของผู้มีประจำเดือนในด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขอนามัย ผู้ประสบปัญหา Period Poverty หลายคนเลือกที่จะใช้ผ้าอนามัยซ้ำๆ หรือใช้วัสดุอื่นแทน อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อราช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือร้ายแรงที่สุด คือภาวะพิษในกระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) อาจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมทั้งการศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับ Period Poverty หลายชิ้นสะท้อนว่า การขาดแคลนผ้าอนามัยส่งผลต่อการขาดเรียนหรือขาดงานด้วย และทางด้านผลการสำรวจของ BMC Women’s Health ที่ทำการศึกษากับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา Period Poverty มีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางจนถึงรุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยประสบปัญหาเลย