17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension day)

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
image
        

           โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตายก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหาที่กำลังมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงจะเรียกอีกอย่างว่า ฆาตกรเงียบ (Silent killer) เนื่องจากโรคนี้มักไม่มีสัญญาณเตือนถึงอาการและการแสดงของโรค ผู้คนจำนวนมากเป็นโรคนี้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และโรคไต
          องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุการตายทั่วโลกสูงถึง ๗.๕ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๒.๘ ของสาเหตุการตายทั้งหมด ทั้งยังมีผลสูญเสียปีสุขภาวะ ๕๗ ล้านปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๓.๗ ของ DALYs จำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงทั่วโลกพบว่ามีจำนวนเกือบถึงพันล้านคน ซึ่งสองในสามจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี ๑ คน ใน ๓ คน มีภาวะความดันโลหิตสูง ในปี ๒๐๒๕ คาดการณ์ว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ จำนวน ๑.๕๖ พันล้านคน จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังพบว่าวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า ๒๕ ปี ประมาณ ๔ ใน ๑๐ คน จะมีความดันโลหิตสูงและในหลายๆประเทศพบว่า ๑ ใน ๕ คน เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และมีการประมาณว่า ๙ ใน ๑๐ ของวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุไปจนถึง ๘๐ ปี จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
        
วันรณรงค์ความดันโลหิตสูงโลก
            สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International of Hypertension) ได้กำหนดให้วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โดยในระยะ ๕ ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๑๕๕๖-๒๕๖๑ มีคำขวัญเพื่อการรณรงค์คือ "Know Your Numbers" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารสร้างกระแสให้ประชากรทั่วโลกเพิ่มความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง
 
คำขวัญวันรณรงค์ความดันโลหิตสูง ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙
คำขวัญเพื่อการรณรงค์จากสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) คือ
"Know Your Numbers"
คำขวัญเพื่อการรณรงค์วันรณรงค์ความดันโลหิตสูง ของกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย คือ
"ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่"
            
               สาเหตุที่ต้องสร้างความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูงโดยการเน้นให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิตของตนเองให้ได้นั้น เนื่องจากสถิติทั่วโลกบ่งชี้ว่าในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีเพียงร้อยละ ๕๐ ที่ตระหนักถึงภาวะความดันโลหิตสูงของตนเอง และมีประชากรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าร้อยละ ๗๕ และในประชากรบางกลุ่มมีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง เพียงร้อยละ ๑๐ ซึ่งสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้แนะนำแนวทางการเพิ่มความตระหนักในประชากร คือ
              ๑. เพิ่มศักยภาพชองชุมชน ในการดำเนินการคัดกรองความดันโลหิตสูง
              ๒. จัดบริการวัดความดันโลหิตในทุกสถานบริการ มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวัดความดันโลหิตได้ง่าย สามารถรู้ค่าความดันโลหิตของตนเองได้
              ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ส่งเสริมการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง และค้นหาผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษากระตุ้นให้ประชาชนมีการตื่นตัวเพื่อรับการตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และต้องรู้ค่าตัวเลขและความหมายของค่าความดันโลหิตของตนเอง

              ความดันโลหิตคืออะไร
              ความดันโลหิต เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ตัวเลขจำนวน ๒ ค่า เช่น ค่าความดันโลหิต ๑๒๐/๗๘ มิลลิเมตรปรอท เลขตัวบน (systolic pressure) คือ ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว ส่วนเลขตัวล่าง (diastolic pressure) คือความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว
              ความดันโลหิตปกติควรมีค่าความดันโลหิตตัวบนน้อยกว่า ๑๒๐ มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่า ๘๐ มิลลิเมตรปรอท
              ความดันโลหิตสูง หมายถึง ค่าความดันโลหิตตัวบน มากกว่าหรือเท่ากับ ๑๔๐ หรือค่าความดันโลหิตตัวล่าง มากกว่าหรือเท่ากับ ๙๐
              ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร
              ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ร้อยละ ๕๐ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะความดันโลหิตสูงยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองแตก ในคนที่มีอายุน้อยกล่า ๕๐ ปี และมีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ค่าความดันโลหิตตัวบนจะเป็นตัวทำนายที่สำคัญต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
              แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าความดันโลหิตจะเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น การรับประทานอาหารลดเค็ม การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยง
              ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินและรับประทานอาหารรสชาติเค็มจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ

               ปัจจัยด้านพฤติกรรมเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลของสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก พบว่า
               - ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารเสี่ยงต่อสุขภาพ (Unhealthy diet)
               - ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๓๐ มีความสัมพันธ์กับการบริโภคเกลือเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒๐
                 มีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีโปแทสเซียมต่ำ (กินผักและผลไม้น้อย)
               - การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๒๐
               - ภาวะอ้วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๓๐
               - การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกิน เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
               - ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรงดสูบบุหรี่
 
               แนวทางการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง
               - การรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง
               - การเลือกกินอาหารลดเค็มและไม่เติมเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเพิ่ม
               - การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
               - การงด / ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
               - การวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง และทราบความหมายค่าความดันโลหิตของตนเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักโรคไม่ติดต่อ  กรมควบคุมโรค
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
  • 75.00%
  • 25.00%
ความคิดเห็น
0 รายการ