ประวัติศูนย์บริการสาธารณสุข 7 บุญมี ปุรุราชรังสรรค์

 

ประวัติความเป็นมา
             วันที่ 15 กรกฎาคม 2504 นายอรุณ เศตะพราหมณ์ (อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดปริวาศ) และ ร.ท. มงคล มิ่งเมือง ได้ไปพบคุณหญิงบุญมี ปุรุราชรังสรรค์ เพื่อขอความอนุเคราะห์จากท่าน ในการสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข ท่านได้ให้ความเมตตาบริจาคที่ดินด้านถนนสาธุประดิษฐ์ จำนวน 1 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา และบริจาคเงินอีกจำนวน 600,000 (หกแสนบาทถ้วน) ในการก่อสร้าง ต่อมาคุณหญิงสร้อย ชวกิจบรรหาร (หลาน) ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 ไร่ 72 ตารางวา เมื่อพ.ศ. 2510 ทำให้ศูนย์ฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด 3 ไร่ 1 ตารางวา เพื่อสร้างบ้านพักพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน พร้อมทั้งมอบเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือทันตกรรม ตู้เย็น รถจี๊บ ศาลาที่พักคนไข้ อุปกรณ์เครื่องเล่นเด็กและอื่นๆอีก
            ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 บุญมี  ปุรุราชรังสรรค์ สร้างเสร็จและได้ทำพิธีมอบให้ทางกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2505  โดยพระบำราศนราดูร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเป็นประธานรับมอบ มีแพทย์หญิงปทุม  รัตตกุล  เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ เป็นอาคารตึก 2 ชั้น 1 หลัง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว  42  เมตร รวม 336 ตารางเมตร
            ตึกตรวจโรคตา คุณหญิงบุญมี  ปุรุราชรังสรรค์ บริจาคเงินเพิ่มเติมจำนวน 310,000.- บาท(สามแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) พร้อมซื้ออุปกรณ์ให้
            บ้านพักภารโรง  เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว  6  เมตร รวม 30 ตารางเมตร  2  ห้องนอน ใช้งานเมื่อวันที่ 21 มกราคม  2507 ได้รับเงินบริจาคจากคุณหญิงบุญมี ปุรุราชรังสรรค์ ต่อมาทำการรื้อเนื่องจากมีการชำรุดทรุดโทรม และทำการก่อสร้างอาคารใหม่เข้าใช้งานเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2537  ก่อสร้างโดยงบประมาณกรุงเทพมหานคร
            บ้านพักเจ้าหน้าที่พยาบาล  เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น  4  ห้อง ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว  15  เมตร รวม 150 ตารางเมตร ใช้งานเมื่อวันที่ 21 มกราคม  2507 ได้รับเงินบริจาคจากคุณหญิงบุญมี ปุรุราชรังสรรค์ 
            สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน  เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 6.30 เมตร ยาว  15  เมตร รวม 94.5 ตารางเมตร เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2509 ก่อสร้างโดยงบประมาณกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้สร้างอาคารใหม่เป็นอาคารตึกชั้นเดียว ค.ส.ล. ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว  12 เมตร ด้วยงบประมาณกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการเมื่อ 24  กรกฎาคม 2528 ราคาค่าก่อสร้าง 677,000.- บาท
            ตึกยาเสพติด  เป็นอาคารตึก 2 ชั้น 1 หลัง ขนาดกว้าง 10.40 เมตร ยาว  16.50  เมตร รวม 171.6 ตารางเมตร ราคาก่อสร้าง 1,730,000.- บาท  เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2523 ก่อสร้างโดยงบประมาณกรุงเทพมหานคร
            ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาช่องนนทรี  มีเนื้อที่ดิน 18 ตารางเมตร เดิมเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ต่อมาได้รับงบประมาณกรุงเทพมหานครก่อสร้างใหม่เป็นอาคารตึก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 5.60 เมตร ยาว  11.20  เมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์  2528 ต่อมาเปิดศูนย์บริการสาธารณสุข 55 เตชะสัมพันธ์ จึงอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ 55
            ปีงบประมาณ 2547 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 7 บุญมี  ปุรุราชรังสรรค์ใหม่ เนื่องจากอาคารเก่าคับแคบไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ก่อสร้างโดยงบประมาณกรุงเทพมหานครวงเงินค่าจ้าง 43,984,878.50 บาท  (สี่สิบสามล้านเก้าแสนแปดหมื่นสี่พันแปดร้อยเจ็ดสิบแปดบาทห้าสิบสตางค์) เริ่มก่อสร้าง 17 มีนาคม 2548 โดยจำหน่ายอาคารสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 2 หลัง  บ้านพักเจ้าหน้าที่พยาบาล 1 หลัง บ้านพักภารโรง 1 หลัง  เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 7  แทน เป็น อาคาร ค.ส.ล. 5 ชั้น 1 หลัง ขนาดกว้าง 16.20 เมตร ยาว  21.00  เมตร  อาคารบ้านพักภารโรงและบ้านพักเจ้าหน้าที่อาคารแฝด 1 หลัง พร้อมที่จอดรถยนต์  ระบบไฟฟ้า  ประปา  ระบบสุขาภิบาล ระบบดับเพลิง  สัญญาณเตือนภัย  ระบบโทรศัพท์ และระบบบำบัดน้ำเสีย  ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทพรีบิลท์ จำกัด ส่งมอบอาคาร  กุญแจและครุภัณฑ์ประกอบอาคารวันที่ 16 มิถุนายน 2549  เปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2549

 

 
ประวัติคุณหญิงบุญมี  ปุรุราชรังสรรค์ 
             คุณหญิงบุญมี  ปุรุราชรังสรรค์ (บุญมี  สุวรรณทัต) เป็นธิดานายเทียนยิ้มและนางจี๊ด  เชนยะวณิช  เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2424  เมื่ออายุ 18 ปี ได้สมรสกับนายโชติ  สุวรรณทัต ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาปุรุราชรังสรรค์  ท่านมิได้มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่ท่านได้เลี้ยงบุตรของสามีไว้ 3 คน  ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2517 ด้วยโรคชรา  หัวใจวายโดยสงบ ณ วัดถ้ำแกลบหรือวัดบุญทวี เมื่ออายุได้ 94 ปีเศษ (จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงบุญมี  ปุรุราชรังสรรค์)

 

                                                                                  นางสุภาวดี  สิทธาพร เป็นผู้รวบรวม  ณ วันที่  17  มกราคม 2551


 

 

อาคารเก่า ปัจจุบันเป็นอาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู และสำนักงานชันสูตร