วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension day)
โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตายก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหาที่กำลังมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงจะเรียกอีกอย่างว่า ฆาตกรเงียบ (Silent killer) เนื่องจากโรคนี้มักไม่มีสัญญาณเตือนถึงอาการและการแสดงของโรค ผู้คนจำนวนมากเป็นโรคนี้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และโรคไต
องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุการตายทั่วโลกสูงถึง ๗.๕ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๒.๘ ของสาเหตุการตายทั้งหมด ทั้งยังมีผลสูญเสียปีสุขภาวะ ๕๗ ล้านปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๓.๗ ของ DALYs จำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงทั่วโลกพบว่ามีจำนวนเกือบถึงพันล้านคน ซึ่งสองในสามจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี ๑ คน ใน ๓ คน มีภาวะความดันโลหิตสูง ในปี ๒๐๒๕ คาดการณ์ว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ จำนวน ๑.๕๖ พันล้านคน จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังพบว่าวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า ๒๕ ปี ประมาณ ๔ ใน ๑๐ คน จะมีความดันโลหิตสูงและในหลายๆประเทศพบว่า ๑ ใน ๕ คน เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และมีการประมาณว่า ๙ ใน ๑๐ ของวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุไปจนถึง ๘๐ ปี จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
วันรณรงค์ความดันโลหิตสูงโลก
สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International of Hypertension) ได้กำหนดให้วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โดยในระยะ ๕ ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๑๕๕๖-๒๕๖๑ มีคำขวัญเพื่อการรณรงค์คือ "Know Your Numbers" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารสร้างกระแสให้ประชากรทั่วโลกเพิ่มความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง
คำขวัญวันรณรงค์ความดันโลหิตสูง ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙
คำขวัญเพื่อการรณรงค์จากสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) คือ
"Know Your Numbers"
คำขวัญเพื่อการรณรงค์วันรณรงค์ความดันโลหิตสูง ของกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย คือ
"ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่"
คำขวัญเพื่อการรณรงค์จากสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) คือ
"Know Your Numbers"
คำขวัญเพื่อการรณรงค์วันรณรงค์ความดันโลหิตสูง ของกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย คือ
"ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่"
สาเหตุที่ต้องสร้างความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูงโดยการเน้นให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิตของตนเองให้ได้นั้น เนื่องจากสถิติทั่วโลกบ่งชี้ว่าในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีเพียงร้อยละ ๕๐ ที่ตระหนักถึงภาวะความดันโลหิตสูงของตนเอง และมีประชากรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าร้อยละ ๗๕ และในประชากรบางกลุ่มมีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง เพียงร้อยละ ๑๐ ซึ่งสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้แนะนำแนวทางการเพิ่มความตระหนักในประชากร คือ
๑. เพิ่มศักยภาพชองชุมชน ในการดำเนินการคัดกรองความดันโลหิตสูง
๒. จัดบริการวัดความดันโลหิตในทุกสถานบริการ มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวัดความดันโลหิตได้ง่าย สามารถรู้ค่าความดันโลหิตของตนเองได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ส่งเสริมการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง และค้นหาผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษากระตุ้นให้ประชาชนมีการตื่นตัวเพื่อรับการตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และต้องรู้ค่าตัวเลขและความหมายของค่าความดันโลหิตของตนเอง
ความดันโลหิตคืออะไร
ความดันโลหิต เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ตัวเลขจำนวน ๒ ค่า เช่น ค่าความดันโลหิต ๑๒๐/๗๘ มิลลิเมตรปรอท เลขตัวบน (systolic pressure) คือ ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว ส่วนเลขตัวล่าง (diastolic pressure) คือความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว
ความดันโลหิตปกติควรมีค่าความดันโลหิตตัวบนน้อยกว่า ๑๒๐ มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่า ๘๐ มิลลิเมตรปรอท
ความดันโลหิตสูง หมายถึง ค่าความดันโลหิตตัวบน มากกว่าหรือเท่ากับ ๑๔๐ หรือค่าความดันโลหิตตัวล่าง มากกว่าหรือเท่ากับ ๙๐
ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร
ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ร้อยละ ๕๐ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะความดันโลหิตสูงยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองแตก ในคนที่มีอายุน้อยกล่า ๕๐ ปี และมีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ค่าความดันโลหิตตัวบนจะเป็นตัวทำนายที่สำคัญต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าความดันโลหิตจะเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น การรับประทานอาหารลดเค็ม การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยง
ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินและรับประทานอาหารรสชาติเค็มจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ
ปัจจัยด้านพฤติกรรมเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลของสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก พบว่า
- ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารเสี่ยงต่อสุขภาพ (Unhealthy diet)
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๓๐ มีความสัมพันธ์กับการบริโภคเกลือเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒๐
มีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่มีโปแทสเซียมต่ำ (กินผักและผลไม้น้อย)
- การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๒๐
- ภาวะอ้วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ ๓๐
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกิน เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรงดสูบบุหรี่
แนวทางการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง
- การรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง
- การเลือกกินอาหารลดเค็มและไม่เติมเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเพิ่ม
- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- การงด / ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- การวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง และทราบความหมายค่าความดันโลหิตของตนเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
ความคิดเห็น
0 รายการ