"มะเร็งเต้านม" มัจจุราชหมายเลข 1 ของผู้หญิง

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
image

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
รูปภาพ: สสส (
http://www.thaihealth.or.th)

          หญิงไทยเป็นแชมป์มะเร็งเต้านม เหตุจากพันธุกรรม การกินฮอร์โมนทดแทน และอาหารไขมันสูงและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น อ้วน หรือเคยฉายแสงบริเวณเต้านม เตือนใช้ฮอร์โมนทดแทนต้องปรึกษาแพทย์และหมั่นตรวจเช็กเต้านม เผยนวัตกรรมยาช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตแม้พบในระยะลุกลาม

          มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับที่ 1 ซึ่งพบมากในผู้หญิงไทย อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งตกใจ เพราะแพทย์ได้กล่าวย้ำว่าเป็นได้ก็หายได้ หากตรวจพบก่อนในระยะแรก และได้รับการรักษาอย่างถูกหลัก แต่ถึงแม้จะเป็นระยะที่ลุกลาม การรักษาตามมาตรฐานจาก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็จะช่วยยืดอายุและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

          พันโทนายแพทย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข ปฏิคม ของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมะเร็งเต้านมว่าโรคนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งปัจจัยจากภายในจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของพันธุกรรม หรือกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะหากมีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุน้อย (อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี)

          ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง เช่น การรับประทานยาฮอร์โมนเสริมในวัยหลังหมดประจำเดือน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มได้ถึง 2-4 เท่า แต่หากจำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนเสริมในวัยหลังหมดประจำเดือน ก็ควรหมั่นตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเอง และไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจเช็กเต้านม และตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม

          นอกจากนี้ จะพบว่าความอ้วนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน

          ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่การมีประวัติได้รับการฉายแสงบริเวณทรวงอก หรือบริเวณเต้านมมาก่อน โดยเฉพาะคนไข้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในตอนเด็ก

          พันโทนายแพทย์ไนยรัฐ ยังกล่าวต่ออีกว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยการตรวจเต้านมด้วยตนเองและจากแพทย์ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอ็กซเรย์เต้านม (แมมโมแกรม) จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือหากตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกได้ก่อน และได้รับการรักษาตามมาตรฐานจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็มีโอกาสที่จะหายขาดได้

          ส่วนระยะของโรคมะเร็งเต้านมจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จัดเป็นระยะเริ่มต้น, ระยะที่ 3 มักจะพบมีการลุกลามที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ส่วนระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย จะพบการลุกลามไปในอวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากก้อนบริเวณเต้านม ได้แก่ ปอด ตับ สมอง กระดูก เป็นต้น

          ถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายของการรักษามะเร็งเต้านมในระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจาย จะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่การรักษาตามมาตรฐานด้วยยา ซึ่งเป็นบทบาทหลักนั้น จะช่วยทำให้ลดอาการต่างๆที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สุขสบายได้ ชะลอการกำเริบของโรค สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

          "กล่าวโดยสรุป จะพบว่าจุดมุ่งหมายในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยจุดมุ่งหมายของการรักษาในระยะแรกคือ "การหายขาด" ส่วนจุดมุ่งหมายของการรักษาในระยะที่ 4 (สุดท้าย) นั้นคือการประคับประคอง ถึงแม้ว่าการรักษาตามมาตรฐานจะไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามหายขาดได้ แต่การรักษาจะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้น และที่สำคัญคือการทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวหรือคนที่เขารักได้อย่างมีความสุข" พันโทนายแพทย์ไนยรัฐกล่าว

          หากอยากทราบข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 นี้ จะมีการจัดกิจกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านม "มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ยืดอายุได้" ที่โรงแรมแกรนด์อโนมา สี่แยกราชประสงค์ จัดโดยมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมแพทย์เฉพาะทางในแง่ของการดูแลรักษามะเร็งด้วยยา ส่งเสริมในด้านกิจกรรมให้ความรู้ กิจกรรมส่วนรวมต่างๆ ทั้งเรื่องการป้องกัน รวมถึงการรักษาที่ถูกต้องในเรื่องของโรคมะเร็งให้ทั้งกับคนไข้และประชาชนทั่วไป

          ผู้ใดที่สนใจไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยมะเร็ง หรือญาติ หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่นรับประทานฮอร์โมนเสริม หรือมีประวัติพันธุกรรมในครอบครัว หรือสนใจอยากทราบการป้องกัน ก็สามารถเข้าร่วมงานได้ ภายในงานจะมีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่ของการป้องกัน การดูแลรักษาสุขภาพ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการให้กำลังใจอีกด้วย .