ห่วง โรคมือเท้าปากเชื้ออีวี71ระบาด
ที่มา: เดลินิวส์
รูปภาพ: สสส (http://www.thaihealth.or.th)
แฟ้มภาพ
โรคมือ เท้า ปาก เกิดการระบาดในประเทศไทยมานานส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีเอ 6,เอ 16 ซึ่งไม่ค่อยรุนแรงนักเด็กจะมีอาการไข้สูง เป็นตุ่มน้ำใส ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า อย่างไรก็ตามยังมีเชื้อเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 ซึ่งเป็นเชื้อรุนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อสมองโดยเฉพาะตรงแกนสมอง และกล้ามเนื้อหัวใจ
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดการระบาดในประเทศไทยมานานส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีเอ 6,เอ 16 ซึ่งไม่ค่อยรุนแรงนักเด็กจะมีอาการไข้สูง เป็นตุ่มน้ำใส ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า อย่างไรก็ตามยังมีเชื้อเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 ซึ่งเป็นเชื้อรุนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อสมองโดยเฉพาะตรงแกนสมอง และกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เสียชีวิตได้ อัตราการตายจากเชื้ออีวี 71 พบว่าถ้าเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 1 ถ้าต่ำกว่า 3 ปี โอกาสเสียชีวิตเป็น 1 ต่อ 300 คน แต่ถ้าอายุมากกว่านี้โอกาสเสียชีวิตจะน้อยลง อาจอยู่ที่ 1 ต่อ 3,000 คน และโอกาสเป็นมือ เท้า ปาก จะน้อยลง
นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมาพบการระบาดที่เกิดจากเชื้ออีวี 71 เพียงร้อยละ 10 แต่ล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 60 จนถึงขณะนี้ ตรวจพบว่าในจำนวนเด็กที่ป่วยมือเท้า ปาก เกิดจากเชื้ออีวี 71 ถึงร้อยละ 50 หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า การระบาดพบมากที่ภาคเหนือตอนล่าง อีสาน และกรุงเทพฯ ซึ่งที่มาตรวจที่แล็บจุฬาฯ 500 คน พบเป็นอีวี 71 แทบทั้งนั้นและเสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากเพราะเป็นเชื้ออันตรายที่เข้าสมอง และกล้ามเนื้อหัวใจจะทำให้เสียชีวิตได้ เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการปรึกษามาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.ขอนแก่น ว่ามีเด็ก 1 คนเป็นมือ เท้า ปาก วันรุ่งขึ้นหอบ และเสียชีวิตเร็วมาก ลักษณะนี้เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ
นพ.ยง กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะอีก 2 สัปดาห์เด็กจะเปิดเทอมแล้วแม้ระยะนี้อัตราการป่วยเริ่มลดลง แต่ตราบใดที่ยังไม่หมดหน้าฝนแล้วเข้าสู่หน้าร้อนจริง ๆ ก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะเชื้อก่อโรคนี้ไม่ว่าสายพันธุ์ใดนั้น จะเจริญเติบโตได้ดีช่วงหน้าฝน มีความคงทนสูงในสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์ หรือกรดสารเคมีที่จะฆ่าเชื้อนี้ได้คือ คลอรีน โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ไฮเตอร์น้ำยาล้างห้องน้ำ และกลุ่มฟอร์มาลีน เป็นต้น โรคนี้ติดต่อง่ายมาก หากเชื้อที่มาทางสารคัดหลั่งน้ำลาย และอุจจาระ เข้าสู่ร่างกายโดยการใช้มือสัมผัสของที่มีเชื้อเข้าปากเมื่อเด็กได้รับเชื้อระยะฟักตัว 3-5 วัน อาการเริ่มต้นมีไข้ เพียงวันเดียวเท่านั้น ก็จะเริ่มมีตุ่มมีแผลในปาก ที่บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ รอบทอนซิล กระพุ้งแก้ม ส่วนที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นตุ่มน้ำใส ๆ เล็ก ๆ ในรายที่เป็นมากอาจจะขึ้นที่หัวเข่า ข้อศอก รอบก้น บางรายเล็บจะหยุดการเจริญเติบโต.