ลด สภาวะตัวเหลืองในทารก

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560
image

ที่มา: ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์
รูปภาพ : สสส. (
http://www.thaihealth.or.th/)

ลด  สภาวะตัวเหลืองในทารก thaihealth

          ภาวะตัวเหลืองเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด เกิดจากสารสีเหลืองชื่อ "บิลิรูบิน" ในเลือดสูงกว่าปกติ การมีระดับบิสิรูบินสูงมากๆ จะมีผลทำให้บิสิรูลินเข้าสู่สมอง ทำให้สมองพิการได้ ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะตัวเหลืองคือ "การส่องไฟ (Photo Therapy)" แต่ก็ยังพบว่า มีบางปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง คือ การส่องไฟไม่ทั่วทุกส่วนของร่างกายเด็ก

          ทั้งนี้ ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2560 มีการนำเสนอผลงานวิชาการในส่วนของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาภาวะตัวเหลืองด้วยการส่องไฟ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคือ "พลิกตะแคงตัวตามเวลา โอ้! นาฬิกาลดเหลือง" โดยโรงพยาบาลพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

          น.ส.ธิดารัตน์ พลพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เพื่อให้การรักษาภาวะตัวเหลืองด้วยการส่องไฟมีประสิทธิภาพ ต้องส่องไฟตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ยกว้นช่วงเวลากินนมแม่หรืออาบน้ำ แต่ปัญหาคือ มีการพบว่า ระหว่างที่เด็กอยู่ในช่วงของการส่องไฟ ไม่ได้รับการเปลี่ยนท่าในการส่องไฟ ส่วนใหญ่มักนอนท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น นอนหงายทั้งวัน หรือนอนตะแคงตัวด้านเดียวทั้งวัน ทำให้ประสิทธิภาพในการส่องไฟรักษาลดลง

          "การที่เด็กไม่ได้รับการส่องไฟทั่วทุกส่วนของร่างกาย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา คือ ในทารกบางรายพบว่า เหลืองรุนแรงค่าบิริรูบินมากกว่า 15 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ต้องส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปรักษาด้วยการส่องไฟแบบทั้งด้านบนและด้านล่างพร้อมกัน (On Double Photo) ในหน่วยดูแลทารกวิกฤต และต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน ญาติเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการอาการของบุตร" น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว

          การแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ทารกได้รับการพลิกตะแคงตัวในการส่องไฟ จึงเป็นที่มาของการสร้างนวัตกรรมบอกเวลาเพื่อให้เด็กได้รับการพลิกตะแคงตัว เพื่อให้ไฟส่องได้ครบทุกส่วนของร่างกาย

          น.ส.ธิดารัตน์ ระบุว่า นวัตกรรมดังกล่าวต้องการให้ทารกได้รับการพลิกตะแคงตัวในการส่องไฟทุก 2-3 ชั่วโมง การส่องไฟจึงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่เกิดอันตรายจากการรักษาโดยการส่องไฟ และเพื่อให้เกิดการส่งเสริมสายใยรักให้มารดามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาบุตร ตึกสูติกรรมจึงได้คิดค้นนวัตกรรม "พลิกตะแคงตัวตามเวลา โอ้! นาฬิกาลดเหลือง" ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเตือนให้เจ้าหน้าที่และมารดาพลิกตะแคงตัวบุตรในการรักษาโดยการส่องไฟ

          สำหรับการประดิษฐ์นาฬิกาลดเหลืองดังกล่าว ก็เป็นเหมือนนาฬิกาทั่วไปที่วงล้อด้านนอกมีตัวเลขบอกเวลา 12 ชั่วโมง ส่วนวงล้อด้านในจะมีท่านอนส่องไฟ 4 ท่าของทารก ประกอบด้วย ท่านอนหงาย ท่านอนคว่ำ ท่านอนตะแคงซ้าย และท่านอนตะแคงขวา ห่างกันทุก 3 ชั่วโมง เมื่อนาฬิกาวนมาถึงท่าไหนก็จะเป็นช่วงในการพลิกตะแคงตัวเด็กตามท่านั้น โดยจะมีการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และมารดา โดยใช้นาฬิกาพลิกตะแคงตัวในการประเมินผู้ป่วย การให้ข้อมูล และการพักให้นมบุตรด้วย จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษามากยิ่งขึ้น จากปัญหาการมอนิเตอร์ไม่สม่ำเสมอ" น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว

          สำหรับผลลัพธ์ของการใช้นวัตกรรมดังกล่าวนี้ น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวว่า หลังจากการใช้นวัตกรรมดังกล่าวในการบอกเวลาพลิกตะแคงตัวทารก พบว่า เกิดประสิทธิภาพในการรักษา มีความสะดวกในการใช้งาน ประหยัดทรัพยากรและสร้างความพึงพอใจแก่มารดาและเจ้าหน้าที่ และช่วยลดปัญหามารดาและญาติวิตกกังวลในการดูแลบุตรส่องไฟและมารดาไม่กล้าพลิกตะแคงตัวบุตรมากขึ้น

          ทั้งนี้ การส่องไฟเพื่อรักษาทารกภาวะตัวเหลืองนั้น ประสิทธิภาพของการส่องไฟขึ้นกับพลังงานแสงสีฟ้า (Blue Light) ซึ่งการกั้นขอบด้านข้างเครื่องส่องไฟด้วยอะลูมินัมฟอยล์ เป็นวิธีการที่ได้รับการศึกษาแล้วว่า สามารถเพิ่มพลังงานแสงสีฟ้าเพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองที่ดีที่สุด แต่ก็มีผลเสียอยู่ประการหนึ่งในการใช้วิธีดังกล่าวคือ แสงสีฟ้าเกิดการสะท้อนออกมาภายนอกมากขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกมึนงง ไม่สบายตา และคลื่นไส้ได้

          ทางด้าน รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย จึงคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาดังกล่าว และนำเสนอเป็นผลงานวิชาการภายในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขเช่นกันในชื่อ "ประสิทธิผลของการกั้นแสงรบกวนจากเครื่อง Phototherapy ด้วยนวัตกรรมม่านบังแสง"

          นางกนกฉัตร ไชยมงคล พยาบาลวิชาชีพ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเพื่อศึกษาว่า การใช้ม่านบังแสงระหว่างการส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองของทารกนั้น จะสามารถลดปัญหามึนงง ไม่สบายตาของพยาบาลลงได้หรือไม่ และกระทบต่อประสิทธิภาพของการส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองของทารกหรือไม่

          โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบอาการมึนงง ไม่สบายตา คลื่นไส้และความพึงพอใจของพยาบาลที่ดูแลทารกที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องส่องไฟ และเปรียบเทียบอุณหภูมิของทารกที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องส่องไฟ ระหว่างใช้และไม่ใช้ม่านบังแสง แบ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพจำนวน 17 ราย และทารกจำนวน 66 ราย ที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ระหว่าง เม.ย. - พ.ค. 2560

          นางกนกฉัตร ระบุว่า การศึกษาได้แบ่งทารกออกเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ส่องไฟโดยไม่ใช่ม่านบังแสงจำนวน 36 ราย เก็บข้อมูลช่วง มี.ค. 2560 และทารกที่ส่องไฟโดยใช้นวัตกรรมม่านบังแสง เก็บข้อมูลช่วง เม.ย. 2560 ผลปรากฏว่า การใช้นวัตกรรมม่านบังแสง ไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิของทารก คือ อุณหภูมิร่างกายของทารกทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน

          นางกนกฉัตร กล่าวอีกว่า ส่วนการเปรียบเทียบอาการและความพึงพอใจของพยาบาลนั้น พบว่า กลุ่มที่ใช้นวัตกรรมม่านบังแสง มีอาการไม่สบายตาลดลงจากร้อยละ 82.4 ลดเหลือร้อยละ 23.6 และมีความพึงพอใจต่อนวัตกรรมดังกล่าวระดับมากร้อยละ 70.59 และมากที่สุดร้อยละ 29.41

          "เรียกได้ว่าการใช้นวัตกรรมม่านบังแสง ดังกล่าว ส่งผลดีต่อพยาบาลในการช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์จากการรับแสงสีฟ้ามากเกินไป ขณะเดียวกันการใช้นวัตกรรมดังกล่าวก็ไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิ ของทารกและประสิทธิภาพในการรักษา จึงถือเป็นทางเลือกในการนำมาใช้งานหรือปฏิบัติ" นางกนกฉัตร กล่าว

          สำหรับการรักษาทารกภาวะตัวเหลืองด้วยวิธีการส่องไฟแล้ว ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นอีก คือ การถ่ายเปลี่ยนเลือด จะทำในกรณีที่ระดับบิลิรูบินในเลือดสูงมาก หรือทารกเริ่มแสดงอาการทางสมองแล้ว เพื่อลดระดับบิลิรูบินในเลือดลงอย่างรวดเร็ว และการรักษาโดยการแก้ไขสาเหตุของภาวะตัวเหลือง เช่น ภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับนมแม่ ก็จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

          หรือเกิดจากภาวะท่อน้ำตีบ ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือหากเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาประคับประคองร่วมด้วย และหากเกิดจากภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด ก็ต้องรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน

          ส่วนการดูแลลูกที่มีภาวะตัวเหลืองนั้น รศ.พญ.โสภรพรรณ เงินฉ่ำ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้คำแนะนำไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจดูว่า ลูกตัวเหลืองหรือไม่อย่างง่ายๆ คือ ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดที่ผิวหนังพร้อมกับแยกออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากหลอดเลือดฝอย บริเวณที่จะตรวจจะได้เห็นสีผิวที่แท้จริง

          และควรตรวจหลายๆ ที่ เช่น หน้าผาก หน้าอก แขน และ ขา ควรตรวจในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และหากพบว่าลูกมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบพามาพบแพทย์ 1. ลูกตัวเหลืองมากหรือเพิ่มขึ้นเร็ว (ถ้าไม่แน่ใจควรพามาพบแพทย์ เพราะการตรวจดูตัวเหลืองด้วยตาเปล่าอาจผิดพลาดได้) 2. สีอุจจาระซีดลง หรือปัสสาวะสีเหลืองเข้มมากหรือเป็นสีน้ำปลา 3. มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด เกร็ง หรือชัก.