วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561
วันวัณโรคโลก 24 มีนาคม
ที่มา: กระปุกดอทคอม
วัณโรคนับเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอีกชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ในสมัยก่อนวัณโรคเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือดและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยในเวลาต่อมาก็จะเบื่ออาหารจนร่างกายผ่ายผอมจนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
ทั้งนี้ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2425 ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr.Robert Koch) ประกาศการค้นพบสาเหตุโรควัณโรคคือเชื้อแบคทีเรีย Tubercle bacillus เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นวัณโรคแพร่กระจายทั่วยุโรปและอเมริกาและเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 7 ของประชากรทั้งหมด การค้นพบครั้งนี้จึงช่วยเบิกทางในการคิดค้นวิธีรักษาวัณโรค
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การค้นพบสาเหตุของโรควัณโรค สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็นวันวัณโรคโลก (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก
ภายหลังจากที่มีการค้นพบตัวยารักษา รวมถึงมีการฉีดวัคซีนป้องกัน จำนวนผู้ป่วยวัณโรคก็ลดน้อยลง โดยยังพบโรคดังกล่าวได้ในผู้ป่วยโรคเอดส์ซึ่งมีร่างกายอ่อนแอและมักจะมีความรุนแรงจนยากที่จะเยียวยา จนกระทบต่อปัญหาด้านสาธารณสุขทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เองทางองค์การอนามัยโลกจึงได้รณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคให้สำเร็จ โดยมีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคเพื่อติดตามสถานการณ์อยู่เสมอ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีการประชุมเรื่องวัณโรคที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยระบุว่า ทุกประเทศต้องร่วมกันรณรงค์ต่อด้านวัณโรคอย่างจริงจัง เนื่องจากการคาดคะเนขององค์การอนามัยโลก พบว่า แนวโน้มของวัณโรคในอนาคตมีทิศทางเพิ่มขึ้นและอาจกลายเป็นโรคติดต่อที่ก่อให้เกิดปัญหากับประชากรโลกได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าในปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้ติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 70 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2539 มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน และในปี พ.ศ. 2534 จำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือ 40,000 คน
ทว่า ในปี พ.ศ. 2535-2536 เมื่อการแพร่ระบาดของโรคเอดส์เกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวนผู้ป่วยเป็นวัณโรคจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นปีละ 50,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อประมาณ 25,000 คน ซึ่งการแพร่เชื้อที่ระบาดอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ทุกประเทศต้องร่วมกันรณรงค์เพื่อกำจัดวัณโรคให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
โรควัณโรค หรือ TB เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีความชุกของโรคอยู่มาก เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มาก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
อาการของวัณโรคในเด็กมักจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร โดยอาการทางปอดอาจไม่เด่นชัดนัก บางรายคุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นว่า ลูกมีก้อนที่คอจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น หรือท้องใหญ่ขึ้นจากการที่มีตับหรือม้ามโต ขณะที่ผู้ใหญ่ หากป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการทางปอดชัดเจนกว่า คือ จะมีอาการไอเรื้อรัง หรือบางครั้งอาจไอเป็นเลือด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีวัคซีน Bacille Calmette-Guerin (BCG) ที่ช่วยป้องกันโรคนี้ได้ โดยในประเทศไทยได้กำหนดให้วัคซีนบีซีจี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องฉีดตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันการเกิดวัณโรค
กิจกรรมวันวัณโรคโลกในประเทศไทย
เนื่องในวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันวัณโรคโลก ทางสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการรณรงค์และรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายขาด เพื่อให้เมืองไทยเป็นประเทศปลอดวัณโรคดังวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก สำนักวัณโรค
สำนักวัณโรค
lib.ru.ac.th
aidsstithai.org