โรคหิด
ที่มา:มูลนิธิหมอชาวบ้าน
รูปภาพ:สสส
หิด เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจาก ตัวหิด ซึ่งเป็นตัวไรเล็กๆ สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่งเป็นจุดขาวเล็กๆ โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย สามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกัน มักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้าน บางครั้งอาจพบระบาดตามวัด โรงเรียน โรงงาน กองทหาร ความยากจน ความสกปรก และการอยู่กันแออัดเป็นปัจจัยสำคัญของการระบาดของโรคนี้ บางคนอาจติดต่อโดยการร่วมเพศ ทำให้เกิดตุ่มคันตรงบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
อาการ
ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง คัน ขึ้นกระจายทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มักจะพบที่ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ก้น อวัยวะสืบพันธุ์ ข้อเท้า (ในเด็กเล็กอาจขึ้นที่หน้าและศีรษะ ส่วนในผู้ใหญ่มักไม่ขึ้นในบริเวณนี้) บางคนอาจพบเป็นผื่นนูนแดงคดเคี้ยว ขนาดเท่าเส้นด้าย ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งตรงปลายสุดจะเป็นที่อยู่ของตัวหิด
ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืนบางคนอาจเกาจนมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบซ้ำเติมเป็นตุ่มหนองพุพอง หรือน้ำเหลืองไหล
อาการแทรกซ้อน
ผู้ป่วยมักเกาจนกลายเป็นแผลพุพอง และถ้าติดเชื้อเบตาสเตรปโตค็อกคัส อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบ เด็กบางคนอาจคัน จนนอนไม่พอ กินไม่ได้ และน้ำหนักลด
การรักษา
ใช้เบนซิลเบนโซเอตชนิด 25% หรือขี้ผึ้งกำมะถัน หรือแกมมาเบนซีนเฮกซาคลอไรด์ (Gamma benzene hexachloride) ทา โดยอาบน้ำถูสบู่ (ใช้ผ้าขนหนูหรือแปรงนุ่มขัดถูด้วยยิ่งดี) และเช็ดตัวให้แห้งก่อน แล้วจึงทายาให้ทั่วทุกส่วนของร่างกายนับตั้งแต่คอลงมาโดยตลอดรวมทั้งผิวหนังส่วนที่ปกติด้วย พอครบ 24 ชั่วโมงให้ทาซ้ำอีกครั้ง ระหว่างนี้อย่าอาบน้ำหรือล้างมือ (ถ้าจำเป็นต้องล้างมือควรทายาซ้ำ) จนกว่าจะครบ 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ทายาครั้งแรก จึงอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และผ้าปูที่นอนใหม่ทั้งหมด ถ้ายังไม่หายขาด ให้ทำซ้ำอีกครั้ง ในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา
สำหรับแกมมาเบนซีนเฮกซาคลอไรด์ ไม่ควรใช้ในทารกและเด็กเล็ก รวมทั้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ระยะแรก ควรใช้ยาตัวอื่นแทน เพราะอาจดูดซึมเขาผิวหนังเป็นอันตรายต่อสมองเด็กได้
ถ้ามีตุ่มหนอง พุพองหรือน้ำเหลืองต้องให้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 10 วัน
ข้อแนะนำ ควรรักษาทุกคนในบ้านที่เป็นหรือสงสัยติดโรคพร้อมกัน
เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนที่ผู้ป่วยใช้ ควรซักให้สะอาด (ด้วยน้ำและผงซักฟอกธรรมดา) และผึ่งแดดทุกวันจนกว่าจะหาย
ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าเกา เพราะอาจลามไปที่อื่นได้ง่าย
ควรแยกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอนต่างหาก อย่าใช้ปะปนกับผู้อื่น รวมทั้งอย่านอนรวมกับคนอื่น
การป้องกัน
อย่าสัมผัสใกล้ชิด หรือนอนบนเตียงเดียวกันกับผู้ป่วย อย่าใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ป่วย
ตัวเมียผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูอยู่ใต้ผิวหนังและวางไข่วันละ 1-3 ฟอง จนวางครบ 25 ฟอง ก็จะตายไป ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนใน 3-4 วัน และอาศัยอยู่ในรูขุมขน ทำให้มีตุ่มแดงหิดสามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายของคน เรา (ที่อุณหภูมิห้อง) ได้ 2-3 วัน