โรคหนึ่งต้องพึงระวัง!!มะเร็งเม็ดเลือด "เอ็มเอ็ม"

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561
image
ที่มา : ผู้จักการออนไลน์

          เพียงแค่เอ่ยถึง "มะเร็ง" คนร้อยทั้งร้อยก็สามารถรับรู้ถึงความน่ากลัวแห่งโรคภัยจากเพียงสองพยางค์สั้นๆ นั้น ในยุคนี้แม้ว่าได้มีการพัฒนาความก้าวหน้าด้านการแพทย์ไปมากแล้วก็ตาม "มะเร็ง" ก็ยังเป็นอีกหนึ่งโรค ที่ถือเป็นโรคร้ายแรง และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมาก แต่สิ่งที่อีกหลายคนยังไม่รู้ก็คือ ยังมีมะเร็งทางโลหิตวิทยาอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ฤทธิ์เดชของมัน ไม่ได้ด้อยไปกว่ามะเร็งที่อื่นๆ เลย ดังนั้นวันนี้จึงมีรายละเอียดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดแบบ "เอ็มเอ็ม" มาแนะนำให้รู้จักกัน
 
 
** "โรคเอ็มเอ็ม" คืออะไร
       "เอ็มเอ็ม" (MM) หรือในชื่อเต็มๆ ว่า มัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยารูปแบบหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติในการแบ่งตัวของพลาสม่าเซลล์ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากไขกระดูก มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติในเลือด ((Monoclonal protein หรือ "เอ็มโปรตีน) ซึ่งวิธีที่เราจะตรวจพบโรคนี้ได้ ต้องเป็นการตรวจแยกโปรตีนในห้องปฏิบัติการ
       
       ฤทธิ์ร้ายของโรคเอ็มเอ็มนี้ ที่แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็หนักใจ ก็คืออาการของโรค ซึ่งการป่วยในระยะแรกนั้น ผู้ป่วยแทบไม่รู้สึกตัวเลยว่า ได้ถูกเจ้าโรคมะเร็งร้ายแบบเอ็มเอ็มเล่นงานเข้าให้แล้ว เพราะอาการเบื้องต้นของโรคนี้มีประการเดียวคือ อาการซีด และโลหิตจางเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องได้ด้วยอาการชี้บ่งเพียงแค่อาการเลือดจางเล็กน้อย เพราะภาวะเลือดจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าป่วยเป็นโรคเอ็มเอ็ม ก็ต้องลุกลามเข้าระยะที่2 หรือ 3 ที่มีอาการโลหิตจาง ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก แคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งก็เป็นระยะที่การรักษาถือว่าทำได้ยากแล้ว
       
       ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอ็มเอ็ม จากหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเอ็มเอ็มจะถูกส่งไปแผนกออร์โธปิดิกส์ หรือด้านกระดูกก่อน เพราะอาการที่แสดงออกทางร่างกายจะเป็นอาการปวดตัว ปวดหลัง กระดูกพรุน กระดูกทรุด กระดูกหัก เป็นต้น ซึ่งกว่าจะหาพบว่าเป็นโรคอะไรก็กินเวลานานพอสมควร
       
       ** สาเหตุของ “โรคเอ็มเอ็ม”
       ผศ.นพ.นพดลเปิดเผยว่า สาเหตุอันก่อให้เกิดโรคเอ็มเอ็มนั้น ไม่สามารถระบุชัดลงไปได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันโดยกรรมพันธุ์ ไม่มีสาเหตุระบุชัดถึงปัจจัยการเกิด เว้นแต่มีสมมติฐานว่าในพื้นที่ที่มีกัมมันตภาพรังสีมาก เช่นในพื้นที่ที่เคยทดลองนิวเคลียร์หรือที่เคยถูกระเบิดนิวเคลียร์ จะมีสัดส่วนของอัตราผู้ป่วยโรคนี้มาก ก็พออนุมานได้ว่ากัมมันตภาพรังสีมีผลเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคดังกล่าว
       
       “กล่าวได้ว่าเอ็มเอ็มเป็นโรคที่ป้องกันได้ยากโรคหนึ่ง เพราะว่าเราไม่รู้มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ยังไม่มีผลการวิจัยศึกษาปัจจัยการเกิดโรค คืออยู่ๆ มันก็เป็นขึ้นมาเอง เราจะทำได้เพียงเช็คร่างกาย คือตรวจเลือดทุกปี หรือทุก 6 เดือน หากเกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง ก็ให้สงสัยเอาไว้ แม้ว่าภาวะซีดจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่การสงสัยไว้ก่อน จะเป็นทางป้องกันที่ดีที่สุด” ผศ.นพ.นพดลกล่าว
       
       **อาการของโรค
       ตามธรรมชาติของร่างกายแล้ว “พลาสมาเซลล์” จะทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แต่เมื่อผู้ป่วยได้ป่วยเป็นโรคเอ็มเอ็มแล้ว พลาสม่าเซลล์จะถูกเปลี่ยนให้เป็นเซลล์มะเร็งและไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ตามปกติ แต่จะสร้างเอ็มโปรตีนขึ้นมา พร้อมกับหลั่งสารเคมีที่ผิดปกติออกมาสู่ร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติต่อไขกระดูก ตลอดจนอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายด้วย
 
ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย , เลือดแข็งตัวช้าหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด,โปรตีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไตวาย ขาบวม ซีด , กระดูกถูกทำลาย กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดกระดูก เกิดการยุบตัวของไขสันหลัง , แคลเซียมในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย ซึม สับสน มีอาการท้องผูก , การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ติดเชื้อง่าย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุหลักอันหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ก็คือ จากการติดเชื้อเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอและภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ และเลือดออกในสมอง
       
       **กลุ่มอายุของผู้ป่วยโรคเอ็มเอ็ม
       “มัลติเพิล มัยอิโลมา” พบมากในวัยผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี แต่ก็มีพบบ้างในผู้ป่วยที่อายุน้อย คิดเป็นสัดส่วนวัย 60 ปี 90 – 95% และวัยต่ำกว่า 40 ปี อยู่ที่ประมาณ 5-10% และจากสถิติแล้ว ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคมัลติเพิล มัยอิโลมา รายใหม่ในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 15,000 คน ส่วนในประเทศแถบเอเชีย คิดสัดส่วนต่อประชากร 1 แสนคน จะพบผู้ป่วย 0.8 คนในประเทศสิงคโปร์ และ 2 คนในประเทศเกาหลี สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นสถิติที่แน่ชัด
       
       แต่จากฐานข้อมูลล่าสุดของโรงพยาบาลศิริราช พบว่ามีผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคนี้ปีละประมาณ 40 – 50 คน สัดส่วนผู้ป่วยชาย : ผู้ป่วยหญิง อยู่ที่ 1.2 : 1 ราย และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 40-70 ปี และอายุเฉลี่ยสำหรับผู้ป่วยโรคนี้คือ 60 ปี
       
       ** หนทางการรักษา
       มะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทมัลติเพิล มัยอิโรมา นั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาจะมีอาการอยู่ในระยะที่ 2 หรือ 3 ผศ.นพ.นพดลให้เหตุผลว่า เนื่องจากอาการป่วยในระยะแรก ผู้ป่วยแทบไม่รู้สึกตัว จนต้องมีอาการทางกายก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดกระดูก ถึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นระยะโรคที่ค่อนข้างอันตรายแล้ว
       
       ปัจจุบันการรักษาโรคดังกล่าวนี้มีอยู่สองวิธี คือการให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุด และอาจมีการฉายแสงร่วมด้วยเพื่อลดความเจ็บปวดจากอาการปวดกระดูก สำหรับยาเคมีบำบัดที่ให้จะมีอยู่หลายสูตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะจัดสูตรยาตามอาการป่วยของโรค ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้ป่วยโรคนี้ ในขณะนี้ได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดสูตรต่างๆ เพื่อให้ลงตัวเหมาะสมกับคนไข้ และออกฤทธิ์มีประสิทธิภาพในการกำจัดโรคมากที่สุด ต่างจากในอดีตที่มีเพียงยากินเท่านั้น
       
       อีกวิธีหนึ่งคือการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าวิธีแรก เพราะมีความเสี่ยงในช่วง 6 สัปดาห์แรกในการปลูกถ่ายค่อนข้างมาก และเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ข้อดีก็คือ หากร่างกายตอบสนองกับวิธีการรักษาดังกล่าว จะช่วยสามารถยืดอายุผู้ป่วยให้อยู่นานขึ้นได้