อาการแบบนี้ ไวรัส หรือแบคทีเรีย
อาการแบบนี้ ไวรัส หรือแบคทีเรีย
เรื่องโดย พัฒน์รพี กมลานนท์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก แผ่นพับหวัดเจ็บคอ ไม่ง้อยา
ให้สัมภาษณ์โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
เมื่อเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนฤดูในทุกครั้ง สภาพอากาศรอบตัวเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากร้อนเป็นฝน จากฝนเป็นหนาว และจากหนาวเป็นร้อน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ ป่วยเป็นไข้หวัดกันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง ยิ่งจะป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย เมื่อมีอาการหวัดคนส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจผิดว่าจะต้องรับประทานยาแก้อักเสบทุกครั้งไป
แต่จริง ๆ แล้วการใช้ยาแก้อักเสบเพื่อรักษาหวัดนั้นจำเป็นเฉพาะในกรณีที่เป็นหวัดและมีการอักเสบเท่านั้น แล้วไข้หวัดแบบไหนกันที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบ ?
คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมกินยาเท่าไรโรคก็ไม่หาย เมื่อยาปฏิชีวนะที่กินเข้าไปกลับ ทำร้าย ร่างกาย นั่นอาจเป็นเพราะคุณกำลังมี เชื้อดื้อยา
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เล่าให้เราฟังว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เชื้อดื้อยายังไม่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นแค่ ของไทยอย่างเดียว ทั่วโลกก็จะเป็น ปัญหาเดียวกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งความตระหนัก ความเข้าใจของบุคลากรสุขภาพก็อาจจะยังมีส่วนอยู่ โดยเฉพาะอาหารหรือสิ่งแวดล้อม ประชาชนจะได้รับ โอกาสที่จะได้รับรู้ว่าเกิดมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือไม่ค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นเราจึงย้ำเน้นว่าการบูรณาการเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเกิดขึ้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องจากคนไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเชื้อดื้อยาเท่าที่ควร ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการดื้อยา ซึ่งในปัจจุบันเป็นปัญหาที่สำคัญ สสส.ได้ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กพย. ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาทั้งในระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ ในปีนี้ สสส.และเครือข่ายจึงพร้อมใจกันประกาศเจตนารมณ์ต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยา เพื่อสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในหมู่ประชาชนให้ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล
วิธีการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยตัวเองว่าอาการป่วยที่เราเป็นอยู่นั้นเกิดจากเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรียกันแน่
เกิดจากไวรัส อาการส่วนใหญ่มักมีน้ำมูก ไอ อาจมีอาการระคายคอ หรือเจ็บคอ หรือเสียงแหบร่วมด้วย
วิธีการรักษา หวัด เกิดจากเชื้อไวรัสสามารถหายได้เองจากการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมาก ๆ อาจใช้เวลา 5 – 7 วัน อาการจะดีขึ้นเอง แนะนำให้กลั้วคอด้วยนน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา
เกิดจากแบคทีเรีย ต้องมีอาการ 3 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ต่อมทอมซิลบวม หรือ มีจุดหนอง
2.ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดเจ็บ
3.มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)
4.ไม่มีอาการไอ
วิธีการรักษา ปรึกษาเภสัชกร หรือไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่
วิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง
1. ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิด ต้องกินต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หมด ซึ่งระยะเวลาที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องกันอาจแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของยา
2.การรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิด ข้อควรระวังการใช้พิเศษ เช่น บางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 15 – 30 นาที บางชนิดไม่ควรรับประทานร่วมกับนมหรือยาลดกรด เนื่องจากจะทำให้เกิดการรบกวนการดูดซึมตัวยาได้ อ่านฉลากก่อนใช้ยา
ผลกระทบจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม
1. การได้รับยาปฏิชีวนะในแต่ละครั้ง สร้างโอกาสให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในร่างกาย เพราะยาปฏิชีวนะที่กินเข้าไปสามารถกำจัดแบคทีเรียได้ทั้งแบคทีเรียที่มีประโยชน์และมีโทษ แบคทีเรียที่รอดชีวิตจึงสร้างตัวเองให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา การได้รับยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นหรือขนาดไม่เหมาะสมอย่างพร่ำเพรื่อจะทำให้เกิด ซูเปอร์บั๊ก หรือ แบคทีเรียดื้อยาที่ไม่มียารักษา
2. เพิ่มโอกาสเกิดการแพ้ยา พบว่ามีผู้ป่วยที่แพ้ยาปฏิชีวนะจนมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตได้
3. การได้ยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งในทารก และเด็กเล็กเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน
การดูแลสุขภาพเบื้องต้นและการป้องกัน
1.ดื่มน้ำเยอะ ๆ
2.กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
3.ล้างจมูก
4.พักผ่อนให้เพียงพอ
5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
6.กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
7.ใส่หน้ากากอนามัย
ในด้านของการรณรงค์ การป้องกันนั้น ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้บอกกับเราว่า จะต้องให้ประชาชนมีการตระหนักรู้ เมื่อตระหนักรู้ก็จะเป็นแรงผลักดัน เพราะพอเวลาเภสัชกร หรือแพทย์จะจ่ายยาให้ประชาชน เมื่อเจอคำถามที่ว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย ก็จะคิดตามว่าเอ๊ะจะจ่ายยาดีไหม ในขณะเดียวกันเราต้องไปรณรงค์ในภาควิชาชีพด้วย อันนี้เราก็ทำอยู่ จะมีเภสัชกร แพทย์จำนวนไม่น้อยเลยที่ขณะนี้เริ่มตระหนัก มีคนตื่นตัวมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่เราคิดว่าเราต้องทำงานอีกเยอะ ทั้งนี้ความตื่นตัวของแพทย์ เภสัชกร และก็กฎหมายด้วยให้มีกฎระเบียบการควบคุม การจำหน่ายยาปฏิชีวนะโดยอิสระต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าเอ๊ะจะจำกัดขอบเขตอย่างไรเพื่อให้ไม่มีการใช้แบบพร่ำเพรื่อเกินไป ในขณะที่ไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาที่ภาวะรุนแรงส่งผลกระทบต่อชีวิต ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ และเพิ่มความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยาเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่สำคัญของประเทศ แก้ไขปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล จำเป็นที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง และใช้หลากหลายมาตรการ/กลวิธี ต้อง ได้รับความร่วมกันจากทุกภาคส่วน นำมาสู่การแก้ไข ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล เพื่อเกิดการใช้ยาที่คุ้มค่า และปลอดภัย เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ดังที่ขององค์การอนามัยโลกนิยามว่า คือ “การใช้ยาที่ผู้ป่วย ได้รับยาที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย ในขนาดยาที่เหมาะสมกับสภาวะ การทำงานของร่างกาย โดยได้รับยาเป็นระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้ป่วยและ ชุมชนน้อยที่สุด”
ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องกินตามแพทย์สั่ง เฉพาะเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และภาคีเครือข่าย เสริมความความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง