ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564
image
ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก พิธีลงนาม MOU องค์กรวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านโรคไม่ติดต่อ ตั้งเป้าสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ สู่วาระแห่งชาติ
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ
ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs thaihealth
“พี่คะขอรสชาติจัดจ้าน แซ่บ ๆ เลยนะคะ”
“พี่ครับขอเพิ่มหวานอีกนิดนะครับ”
“ของทอดนี่มันอร่อยจริงๆ นะ กร๊อบ กรอบ ยิ่งถ้าได้น้ำจิ้มแซ่บ ๆ นะ คือ ดีมากกก”
พฤติกรรมการนิยมบริโภคอาหารรสชาติจัดจ้าน ถึงใจ แต่มากไปด้วยปริมาณของโซเดียม ขณะที่การทานอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นเกินไป แต่เมื่อบริโภคเกินที่ร่างกายต้องการ ย่อมส่งผลเสียตามมา ดังประโยคที่ว่า “อร่อยปาก ลำบากร่างกาย Covid-19 ที่ว่าร้าย ยังต้องพ่ายให้กับโรค NCDs” รู้หรือไม่คนไทยเสียชีวิตด้วยโรค NCDs เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ไม่เพียงเท่านั้นในแต่ละปีรัฐต้องสูญเสียงบประมาณค่ารักษาพยาบาลปีละกว่าหลายล้านบาท
หากสงสัยว่าทำไม ? NCDs ถึงร้ายแรงกว่า Covid-19 ก็เพราะว่ามีจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs จำนวนมาก และโรคที่เป็นนั้นเรื้อรังนานนับสิบปี การดูแลรักษาพยาบาลจำเป็นต้องใช้ทั้งทรัพยากรบุคคล ยา เครื่องมือแพทย์เป็นจำนวนมาก ด้วยปัญหานี้จึงเป็นที่มาในการร่วมมือกันระหว่าง สสส. สมาคมโรคไม่ติดต่อไทยผนึกกำลังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามความร่วมมือ MOU องค์กรวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านโรคไม่ติดต่อ ทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อสู่วาระแห่งชาติ ตัดวงจรโรคไม่ติดต่อ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มุ่งสร้างสุขภาวะที่ดีให้คนไทย
ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs thaihealth
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ว่า โรคไม่ติดต่อในประเทศไทยในตอนนี้มีจำนวนมาก “โรค NCDs ไม่ใช่โรคที่เกิดจากอายุ พันธุกรรม ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสชาติ หวาน มัน เค็ม เกินไป และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถดูแล และป้องกันตัวเองที่จะไม่ให้ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ”
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวต่อว่า การร่วมมือกันในการทำงานครั้งนี้ ในนามของสมาคมโรคไม่ติดต่อไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายร่วมกัน คือการลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ลง ด้วยการการควบคุมและป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคที่ไม่จำเป็น ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น ปรับสิ่งแวดล้อมให้ลดปัจจัยเสี่ยง โดยอาศัยนโยบายสาธารณะที่จะช่วยยับยั้งปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมปัจจัยคุ้มครองให้ไปในทิศทางเดียวกัน และผลักดันนโยบายนี้ให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโรค NCDs อย่างจริงจัง
ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs thaihealth
ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นนโยบายสาธารณะ จะบอกให้ประชาชนรู้จักเพียงวิธีการป้องกันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
“ประชาชนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนโยบายสาธารณะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจากกลุ่มโรค NCDs ลง โดยผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการยื่นขอเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางสังคม นอกจากจะบอกประชาชนว่ามีวิธีป้องกันอย่างไร สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยให้เกิดผลคือ การปรับสภาพแวดล้อม ให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน เพื่อให้คนไทยห่างไกลจากโรค NCDs” ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ทำความรู้กับกลุ่มโรค NCDs
มาดูกันว่าการรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม เกินไปเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรบ้าง
ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs thaihealth
5 วิธี ห่างไกลจากโรค NCDs
  1. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. ไม่สูบบุหรี่
  3. เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็มจัด และเพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหาร
  4. ออกกำลังกาย
  5. อารมณ์ดี คิดบวก ไม่เครียด ผักผ่อนให้เพียงพอ
ลดหวาน มัน เค็ม ดีต่อใจ ห่างไกล NCDs thaihealth
            สสส.ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมขับเคลื่อน สร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการควบคุมและป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสุขภาวะที่ดีและลดจำนวนผู้ป่วยจากกลุ่มโรค NCDs “เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวันนี้ เพื่อสุขภาวะที่ดี ห่างไกล NCDs”