ลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560
image

ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า

ลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs thaihealth

          สมัยนี้ใครมีเวลาทำกับข้าวกินเองได้ถือว่าโชคดี” แม้จะเป็นคำพูดที่ดูจะออกไปทางประชดประชันเสียดสีเสียหน่อย แต่คงต้องยอมรับว่า “มีมูล” เป็นความจริงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดา “ประชากรกรุงเทพฯ” ที่ต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อฝ่าสภาพการจราจรระดับ “แชมป์โลกเมืองรถติด” ไปเรียนหรือทำงาน และเช่นเดียวกันในช่วงเย็นหรือหัวค่ำเมื่อต้องเดินทางกลับบ้าน วนเวียนอยู่แบบนี้เรื่อยไป ชาว กทม. จึงต้องฝากท้องไว้กับร้านหรือแผงขายอาหารประเภทต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          แต่ก็เพราะสถานการณ์แบบนี้เอง ได้ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยในกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ความดัน ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน เพิ่มขึ้นมากในหมู่ประชาชนคนไทย ดังข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ราว 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 48 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนประเทศไทย ในปี 2558 ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ประมาณ 3 แสนคนต่อปี โดยป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด

          ดร.สันต์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีสัมมนา “การบริโภคที่ดีอาจไม่ได้เริ่มที่ตัวคุณ” ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากโครงการพัฒนาเครือข่ายเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรไทย โดยความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาศึกษาเพื่อหาวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ปลอดภัยของคนไทย

          ดร.สันต์ ในฐานะหัวหน้าโครงการนี้ เล่าว่า ได้รวบรวมผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคจากต่างประเทศ ก่อนนำมาทดลองใช้สำรวจพฤติกรรมนิสิต- นักศึกษาในเขต กทม. และปริมณฑล ตามร้านอาหาร “ฟาสต์ฟู้ด” แบรนด์ดัง รวมถึงโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า พบว่า 1.การกำกับดูแลร้านอาหารสำเร็จรูปมีความสำคัญ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับประทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน 2.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ “กินอะไรก็ได้ไม่เรื่องมาก” ดังนั้นการจูงใจด้วยการ “กำหนดทางเลือกมาตรฐาน” (Default Option) ด้วยการจำกัดสิทธิทางเลือกเมนูแก่ผู้สำรวจโดยอัตโนมัติได้ผล เช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีเบอร์เกอร์ไก่และเบอร์เกอร์ปลา “หากตั้งเบอร์เกอร์ไก่เป็นทางเลือกมาตรฐานจะมีกลุ่มคนที่เลือกไก่ร้อยละ 75.3 ในขณะที่ถ้าไม่กำหนดทางเลือกมาตรฐานจะมีผู้เลือกซื้อเบอร์เกอร์ไก่เพียงร้อยละ 54.5” เท่ากับว่า การมีทางเลือกมาตรฐานทำให้คนเลือกเบอร์เกอร์ไก่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.8 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทนั้นๆ เป็นที่คุ้นเคยเพียงใด 3.การดูแลเรื่องการตั้งราคามีความสำคัญ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่าง “ส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อโปรโมชั่นและราคาสูง” ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณหรือเปลี่ยนราคา 4.การให้ข้อมูลด้านโภชนาการในรูปแบบเมนูแนะนำที่มีลักษณะทางโภชนาการที่ดี เป็นคุณสมบัติของรายการอาหารประเภทเดียวที่มีประสิทธิผลแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น และ 5.ยิ่งได้รับอาหารมากจะยิ่งบริโภคมาก ดังนั้นปริมาณอาหารที่จัดให้จึงมีผลกับพฤติกรรมการบริโภค หากสามารถจัดการขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อสุขภาพแล้ว น่าจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เกินพอดีได้

          นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ กล่าวต่อไปว่า ความคาดหวังของโครงการพัฒนาเครือข่ายเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชากรไทย คือเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่จุดประกายให้ผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว โดยเริ่มจากการพิจารณาเมนูในร้านค้าของตนว่าเมนูไหนมีประโยชน์พอที่จะเป็นเมนูสุขภาพได้ แล้วชูเมนูนั้นๆ ขึ้นมาเป็นเมนูแนะนำ รวมถึงการเพิ่มปริมาณและชนิดของผักในแต่ละเมนูให้หลากหลายมากขึ้น

          เมื่อบวกกับการ “ลดการปรุงรสชาติหวาน มัน เค็ม” ก็เป็นการยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการร้านค้าไม่เดือดร้อนมากนัก และผู้บริโภคก็ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากการสำรวจพบว่า การกำหนดทางเลือกมาตรฐาน (Default Option) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจและมีประสิทธิผลสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร จึงเกิดแนวคิดส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการด้านอาหารกำหนดเมนูทางเลือกมาตรฐาน ที่เป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

          ขณะที่ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ไม่ว่าเรื่องใดๆ การตัดสินใจของมนุษย์ร้อยละ 80 เกิดจากความคุ้นชิน มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เกิดจากเหตุผลและความรู้” ดังนั้นควรส่งเสริมให้เกิดทางเลือกนโยบายขึ้นเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ดีใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.จัดการข้อมูลสำคัญให้ง่ายต่อการเข้าถึงและทำความเข้าใจ สอดคล้องกับการปฏิบัติในชีวิตจริง 2.สร้างบริบทแวดล้อมให้เอื้อต่อการบริโภค เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 3.การกำหนดตัวเลือกแนะนำหรือตัวเลือกเริ่มต้น หรือลำดับในการนำเสนอสินค้าบริการ และ 4.เสริมสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อจูงใจให้คนในสังคมปฏิบัติตาม โดยภาครัฐออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเอกชนให้ใช้ทางเลือกมาตรฐานในการส่งเสริมสุขภาวะ ส่วนภาคเอกชนควรร่วมมือกับภาครัฐในการประกอบการภายใต้นโยบาย และภาคประชาสังคมควรร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายและช่วยตรวจสอบการดำเนินงาน

          เคยมีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “หากการเลือกทำสิ่งที่ถูกมีต้นทุนสูง มนุษย์ก็จะหันไปเลือกทำสิ่งที่ผิดแต่มีต้นทุนต่ำกว่า” นำไปสู่แนวคิดการปรับปรุงกฎหมาย-กฎระเบียบต่างๆ ให้ง่ายต่อการปฏิบัติตาม อาทิ การที่รัฐบาลพยายามลดขั้นตอนการจดทะเบียน ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการอนุมัติอนุญาตต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งคำกล่าวข้างต้นสามารถนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้เช่นกัน โดยทำให้อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นทางเลือกมาตรฐาน เข้าถึงง่ายกว่าอาหารประเภทอื่นๆ จนผู้บริโภคสั่งมารับประทานด้วยความคุ้นชิน

เมื่อนั้นสุขภาพคนไทยโดยรวมคงดีขึ้น ลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs ได้ในที่สุด!!!