ปัญหาเหล้า-สารเสพติดทำคนไทยป่วยจิตเวช

วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560
image

ที่มา: บ้านเมือง
รูปภาพ: สสส. (thaikealth.or.th)

ปัญหาเหล้า-สารเสพติดทำคนไทยป่วยจิตเวช thaihealth

สารเสพติด แอลกอฮอล์ต้นเหตุปัญหาจิตเวชในคนไทย แนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ กรมสุขภาพจิตเร่งพัฒนาระบบบำบัดรักษาฟื้นฟู สร้างกูรูมืออาชีพ และขยายเครือข่ายค้นหาติดตาม เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ตั้งเป้าในปี 2561 นี้จะให้มีอัตราไม่หันไปเสพยา ดื่มเหล้าซ้ำติดต่อกัน 3 เดือนหลังบำบัด 95 %

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของการเจ็บป่วยทางจิตเวชว่า สภาพปัญหาเกิดมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะจากสภาพสิ่งแวดล้อม เช่นสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเลี้ยงดู นับเป็นต้นเหตุที่มีแนวโน้มรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้น ผลการสำรวจด้านระบาดวิทยาของปัญหาสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิตล่าสุดใน พ.ศ.2556 พบว่าคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช หรือมีปัญหาสุขภาพจิตในรอบ 12 เดือน 13.9% หรือมีจำนวน 7 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ 44% มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติดต่างๆรวมทั้งดื่มเหล้าด้วยรวม 3 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นจากการดื่มเหล้าอย่างหนักจำนวน 2.75 ล้านคน และจากการใช้สารเสพติดต่างๆที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่นยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน กระท่อม กัญชา รวมทั้งการใช้ยาในทางที่ผิดเช่นยาลดความอ้วน ยากลุ่มนอนหลับ เป็นต้น จำนวน 3 แสนคน ทำให้เกิดโรคสมองติดยา ติดเหล้า มีความผิดปกติทางด้านความคิดและพฤติกรรมตามมา

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ดื่มเหล้า เสพสิ่งเสพติดและมีอาการป่วยทางจิตเวชร่วมด้วย จัดเป็นผู้ป่วยที่ต้องให้การดูแลรักษาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน แต่ปัญหาสำคัญคือผู้ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่ประมาณ 95% ไม่คิดหรือไม่รู้สึกว่าควรได้รับการรักษา มีเพียงร้อยละ 4 ที่คิดว่าควรได้รับการรักษาแต่ไม่ได้พยายามมารักษา และร้อยละ 1 คิดว่าตนเองควรได้รับการรักษาและสมัครใจเข้ารักษากลุ่มนี้มีประมาณ 30,000 คน โดยผู้เสพหน้าใหม่จะเริ่มทดลองใช้สารเสพติดตั้งแต่อายุน้อยประมาณ 11-12 ปี และเริ่มเสพหนักขึ้นในอายุ 17 ปี ดังนั้นแนวโน้มผู้ป่วยจิตเวชไทยในอนาคต จะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เมื่อเทียบอาการของโรคจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติดจะมีความรุนแรงมาก ทั้งอาการก้าวร้าว เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สินทั้งในระดับบุคคล สังคม ประเทศชาติ

ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้วางระบบบริการผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งมี 4 ขั้นตอน คือการประเมินคัดกรอง การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลในชุมชนหลังผ่านการบำบัดป้องกันการกลับไปเสพยาซ้ำ เน้นให้การดูแลแบบสหวิชาชีพผสมผสานทั้งการรักษาอาการสมองติดยา การฟื้นฟูจิตใจ การปรับความคิดและพฤติกรรม โดยได้พัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลจิตเวช 18 แห่งทั่วประเทศให้เป็นระดับมืออาชีพหรือเป็นกูรูด้านผู้ป่วยจิตเวชจากสารเสพติดเป็นการเฉพาะ ทั้งจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสังเคราะห์ ซึ่งทั่วประเทศมีแล้วประมาณ 800 คน และจัดฟื้นฟูองค์ความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือตรวจคัดกรองผู้ป่วยนำเข้าสู่ระบบการรักษา ฟื้นฟู เพื่อนำความรู้ เทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้เครือข่ายบริการคือโรงพยาบาลทุกระดับกว่า10,000 แห่งในเขตสุขภาพทั่วประเทศ

นอกจากนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นของระบบการติดตามในชุมชน ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สุดถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดเลิกเสพสารเสพติดอย่างถาวร โดยจัดผู้รับผิดชอบหลัก และพัฒนาเครือข่ายในชุมชน หมู่บ้าน โดยพัฒนาอสม.ให้เป็นอสม.เชี่ยวชาญยาเสพติดเพื่อติดตามผู้ป่วยในชุมชน รวมทั้งค้นหาผู้ป่วยในชุมชนเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา ซึ่งในปีที่ผ่านมาอัตราความสำเร็จของการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดและเหล้าสามารถหยุดเสพได้ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนหลังบำบัดแล้วสูงถึงร้อยละ 94 ในปีนี้กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าอัตราผู้ป่วยไม่หันไปใช้ยาเสพติดซ้ำหลังผ่านการบำบัดที่ 95% และหากผู้ป่วยสามารถเลิกได้ติดต่อกัน 1 ปี ก็จะมีผลดีมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังเป็นเยาวชน โอกาสที่สมองจะฟื้นตัวมาเป็นปกติจะมีสูง และในปี 2562 จะดูการคงอยู่ในระบบบริการ ( Retention rate)ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย เพื่อสามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่องและมีผลการรักษาที่ดี อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว