วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies Virus) สัตว์นำโรค ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก กระแต หนู ลิง ชะนี แพะ แกะ วัว ควาย ค้างคาวเป็นต้น
สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดคือ “สุนัข” มนุษย์ติดเชื้อนี้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพาสุนัขบ้า ดังนั้น ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มักจะเสียชีวิตทั้งหมด แต่เรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ (Preventable disease) เพียงแค่นำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรจัดมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นวิธีการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด
วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) โดยถูกกำหนดให้จัดตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของ “หลุยส์ ปาสเตอร์” ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับฉีดให้คนที่ถูกสุนัขบ้ากัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าและร่วมมือร่วมใจป้องกันโรคนี้ด้วยการให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ตั้งเป้าหมายว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะหมดไปจากโลกในปี 2563 (2020) World rabies day จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งรัดการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศ และจากโลก
ตราสัญลักษณ์ของ World Rabies Day เป็นตรารูปโลกมีภาพคน สุนัขและค้างคาว ล้อมรอบด้วยตัวหนังสือ World Rabies Day September 28 อยู่ในวงแหวน 2 ชั้น ซึ่งจะใช้ภาษาของแต่ละประเทศ
โลโก้ภาษาอังฤษ
โลโก้ภาษาไทย
สำหรับประเทศไทยก็มีการจัดกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน
สำนักโรคติดต่อทั่วไปได้แนะนำข้อควรปฏิบัติในการลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้ายโดยปฏิบัติตนตามคำแนะนำ 5 ย. คือ
1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ
2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ
3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร
5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
กรณีหากถูกสุนัขบ้านหรือถูกสุนัขจรจัด แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้เร็วที่สุดเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับโดยระมัดระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ควรนำสัตว์เลี้ยงทุกตัวไปทำการฉีดวัคซีนตามร้าน หรือศูนย์บริการใกล้บ้านให้ตรงตามกำหนดทุกครั้ง ไม่ต้องรอให้ถึงโอกาสสำคัญ หรือวันรณรงค์ถึงค่อยไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในบริเวณที่อยู่อาศัยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก :: กลุ่มสื่อสารสาธารณะและภาคีเครือข่าย สำนักโรคติดต่อทั่วไป, ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ, กรมปศุสัตว์, rabiesalliance.org
ภาพประกอบจาก :: rabiesalliance.org, iStockphoto.com