โรคลมแดดวายร้ายในหน้าร้อน

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561
image

โรคลมแดด (Heat Stroke) วายร้ายในหน้าร้อน

จากภาวะโลกร้อน (Global Thermal Warming) ทำให้อากาศร้อนจัดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน ความร้อนยิ่งเพิ่มทวีคูณ ทำให้ผู้คนเกิดการเจ็บป่วยได้หลายโรค และโรคหนึ่งที่พบได้ในช่วงหน้าร้อนคือ “โรคลมแดด” หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ฮีทสโตรค” (Heat Stroke) ปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 56 ราย 40% เสียชีวิตในบ้านพัก เพราะอากาศร้อนและไม่ถ่ายเท

สาเหตุ

โรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤต ในภาวะปกติร่างกายจะมีระบบการปรับสมดุลความร้อน เมื่อความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น จะมีขบวนการกำจัดความร้อนออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต่อมใต้สมองไฮโปทาลามัสส่วนหน้า หากสมดุลนี้เสีย จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น

การจัดกลุ่มโรค

  1. โรคลมแดดจาการออกกำลังกาย (Exertional Heat Stroke : EHS) 
    มักพบในกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงมาก่อน เช่น เด็กโต วัยรุ่น นักกีฬา ทหารเกณฑ์ที่ฝึกในอากาศร้อนจัด หรือผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมเกินไป ร่วมกับปัจจัยอากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิสูง
  2. โรคลมแดดทั่วไป (Non-exertional Heat Stroke: NEHS) 
    มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่ต้องรับประทานยา เบาหวาน ความดัน ผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งพบในกลุ่มที่ใช้สารเสพติด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับ

อาการของโรค

อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่ายกาย 41 องศาเซลเซียส มีเหงื่อออกในกลุ่ม EHS และไม่มีเหงื่อออกในกลุ่ม NEHS ประวัติสัมพันธ์กับอากาศร้อนขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย มีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว กระสับกระส่าย มึนงง สับสน ชักเกร็ง หมดสติ

โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำ หรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้

การช่วยเหลือเบื้องต้น

นำผู้ที่มีอาการเข้าในร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณ ใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล

การรักษา

โรคลมแดดเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ที่ต้องรีบให้รักษาทันที ต้องรับคนไข้ไว้ติดตามอาการต่างๆ ในโรงพยาบาล อย่างน้อย 48 ชั่วโมงในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยรักษาดังนี้

  • ลดอุณหภูมิร่างกายลง โดยค่อยๆอุณหภูมิลงมาที่ 39 องศาเซลเซียส ไม่ต้องการลดให้ลดเร็วเกินไป โดยพ่นละอองน้ำ ใช้น้ำอุ่น ร่วมกับเปิดพัดลมเป่า จะช่วยระบายความร้อนได้ดีทีสุด ปลอดภัยกว่าการจุ่มลงในน้ำผสมน้ำแข็ง ซึ่งทำให้เกิดการหนาวสั่น เส้นเลือดหดตัวทำให้ความร้อนยิ่งเพิ่มขึ้น
  • การลดความร้อนวิธีอื่นๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนแต่ยังสามารถทำได้ เช่น การใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหาร ช่องท้อง และทวารหนัก แล้วทำการล้างด้วยน้ำเย็น การใช้ออกซิเจนเย็น
  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือด การให้สารน้ำอย่างพอดี ถ้าพบว่ามีการสลายกล้ามเนื้อ มีเลือดออกในปัสสาวะ อาจต้องให้สารน้ำมากขึ้น และต้องเฝ้าระวังการ จดบันทึกการขับถ่ายปัสสาวะ
  • แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือด หากพบว่ามีภาวะน้ำตาลต่ำ
  • เฝ้าระวังการผิดปกติของระบบต่างๆ และรีบแก้ไขทันที

การป้องกัน

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตร/วัน
  • หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ถ่ายเท ไม่สะดวก หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลม
  • ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หากรู้สึกเหนื่อยมากควรรีบพัก ทันที ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
  • หากต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวกป้องกัน หรือเตรียมตัวออกกำลังกายกลางแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดที่เพิ่มความร้อนให้ร่างกาย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ