ไข้เลือดออก
รู้ไว้ไข้เลือดออก......
สาเหตุ
เกิด จากเชื้อไข้เลือดออกซึ่งเป็นไวรัสมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เด็งกี (dengue) กับชิกุนคุนยา (chigunkunya) ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีสาเหตุจากเชื้อเด็งกี ซึ่งยังแบ่งออกเป็นพันธุ์ย่อยๆ ได้อีก 4 ชนิด ได้แก่ ชนิด 1, 2, 3, และ 4 เชื้อเด็งกีเหล่านี้สามารถทำให้เกิดไข้เลือดออกที่รุนแรงได้ โดยทั่วไปเมื่อได้รับเชื้อเด็งกีเข้าไปครั้งแรก (สามารถติดเชื้อตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป) โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 3-15 วัน (ส่วนมาก 5-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงคล้ายไข้หวัดใหญ่อยู่ 5-7 วัน และส่วนมากจะไม่มีอาการเลือดออก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีเลือดออก หรือมีอาการรุนแรง ต่อมาเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อซ้ำอีก (ซึ่งอาจเป็นเชื้อเด็งกีชนิดเดียวกัน หรือคนละชนิดกับที่ได้รับครั้งแรกก็ได้ และมีระยะฟักตัวสั้นกว่าครั้งแรก) ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาทำให้หลอดเลือดฝอยเปราะ และเกล็ดเลือดต่ำ จึงทำให้พลาสมา (น้ำเลือด) ไหลซึมออกจากหลอดเลือด (ตรวจพบระดับฮีมาโตคริตสูง มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง) และมีเลือดออกง่าย เป็นเหตุให้เกิดภาวะช็อก
โดย ทั่วไป การติดเชื้อครั้งหลังๆ ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มักเกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 6 เดือนถึง 5 ปี มักจะทิ้งช่วงไม่เกิน 5 ปี ด้วยเหตุนี้ไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงจึงมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีมากกว่าในวัยอื่น ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีสาเหตุจากเชื้อชิกุนคุนยา ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง คือไม่ทำให้เกิดภาวะช็อกเช่นที่เกิดจากเชื้อเด็งกี
โรค นี้มียุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค กล่าวคือ ยุงลายจะกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก่อน แล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียง (ในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร) ก็จะแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ต่อไป ยุงชนิดนี้ชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ จานรองตู้กับข้าว แจกัน ฝากะลา กระป๋อง หลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น เป็นยุงที่ออกหากิน (กัดคน) ในเวลากลางวัน
อาการ
อาการของไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน มีลักษณะไข้สูงลอยตลอดเวลา (กินยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด) หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ผู้ป่วยจะซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ บางรายอาจบ่นปวดท้องในบริเวณ ใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา หรือปวดท้องทั่วไป อาจมีอาการท้องผูก หรือถ่ายเหลว ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมาก (เช่น คนที่เป็นไข้หวัดหรือออกหัด) แต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงเล็กน้อย หรือไอบ้างเล็กน้อย
ในราววันที่ 3 ของไข้ อาจมีผื่นแดง ไม่คัน ขึ้นตามแขน ขา และลำตัว ซึ่งจะเป็นอยู่ 2-3 วัน บางรายอาจมีจุดเลือดออกมีลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (บางครั้งอาจมีจ้ำเขียวด้วยก็ได้) ขึ้นตามหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก (เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้นไก่) ในระยะนี้อาจคลำพบตับโต และมีอาการกดเจ็บเล็กน้อย การทดสอบทูร์นิเคต์* ส่วนใหญ่จะให้ผลบวกตั้งแต่วันที่ 2 ของไข้ และในวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว มักจะพบมีจุดเลือดออกมากกว่า 20 จุดเสมอ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากไข้ก็จะลดลงในวันที่ 5-7 บางรายอาจมีไข้เกิน 7 วันได้ แต่ถ้าเป็นมาก ก็จะปรากฏอาการระยะที่ 2
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก
มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเด็งกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 และไม่ค่อยพบผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อชิกุนคุนยา อาการจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของโรคซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤติของโรค อาการไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีอาการปวดท้องและอาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว (อาจมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที) และความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการของภาวะช็อก ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพลาสมาไหลซึมออกจากหลอดเลือด ทำให้ปริมาตรของเลือดลดลงมาก ถ้าเป็นรุนแรงผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว ตัวเย็นชืด ปากเขียว ชีพจรคลำไม่ได้ และความดันตกจนวัดไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีก็อาจตายได้ภายใน 1-2 วัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบๆ ถ้าเลือดออกมักทำให้เกิดภาวะช็อกรุนแรงถึงตายได้อย่างรวดเร็ว ระยะที่ 2 นี้ จะกินเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤติไปได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว
ในรายที่มีภาวะช็อกไม่รุนแรง เมื่อผ่านช่วงวิกฤติไปแล้ว ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกรุนแรง เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก็จะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ อาการที่ส่อว่าดีขึ้น ก็คือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากกินอาหารแล้วอาการต่างๆ จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ระยะนี้อาจกินเวลา 7-10 วัน หลังผ่านระยะที่ 2
รวมเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นจนแข็งแรงดีประมาณ 7-14 วัน, ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย อาจเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็หายได้เอง (ส่วนอาการไข้ อาจเป็นอยู่ 2-7 วัน บางรายอาจนาน 10 วันก็ได้)
การดำเนินโรค
ประมาณร้อยละ 70-80 ของคนที่เป็นไข้เลือดออกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย และหายได้เองภายในประมาณ 7-14 วัน เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการและให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช็อกก็เพียงพอ ไม่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ไม่ต้องฉีดยาหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ประมาณร้อยละ 20-30 อาจมีภาวะช็อกหรือเลือดออก ซึ่งก็มีทางรักษาได้ด้วยการให้น้ำเกลือหรือให้เลือด มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเป็นรุนแรงถึงตายได้ โดยเฉพาะถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจมีอัตราตายสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ
ภาวะแทรกซ้อน
นอกจากภาวะเลือดออกรุนแรง (ถ้ามีเลือดออกในกระเพาะอาหารจำนวนมากหรือมีเลือดออกในสมองมักมีอัตราตาย สูง) และภาวะช็อกแล้ว ยังอาจเกิดภาวะตับวาย (มีอาการดีซ่าน) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงถึงตายได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกอยู่นาน นอกจากนี้อาจเป็นปอดอักเสบ (อาจมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) หลอดลมอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแทรกซ้อนได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้ถ้าให้น้ำเกลือมากไป อาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) เป็นอันตรายได้ ดังนั้น เวลาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ควรตรวจดูอาการอย่างใกล้ชิด
การแยกโรค
ไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูง (ตัวร้อน) เป็นสำคัญ ควรแยกแยะออกจากไข้อื่นๆ ได้แก่
1. ไข้หวัด มีอาการตัวร้อนเป็นพักๆ มีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอเล็กน้อย ไข้มักจะหายได้เองภายใน 2-4 วัน
2. ไข้หวัดใหญ่ มีอาการตัวร้อนจัดเป็นพักๆ ปวดเมื่อยตามตัวมาก เบื่ออาหาร เจ็บคอเล็กน้อย ไอ และมีน้ำมูกเล็กน้อยร่วมด้วย อาการไข้มักจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน
3. หัด มีอาการตัวร้อนตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง คล้ายไข้เลือดออก แต่แตกต่างกันตรงที่หัดจะมีขี้มูกเกรอะกรัง ไอ และหลังมีไข้ 3-4 วันจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว โรคนี้มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน
4. ปอดอักเสบ (ปอดบวม) มีไข้สูง ไอมีเสลด เจ็บหน้าอก และหายใจหอบ หากสงสัยต้องไปพบแพทย์ทันที มักต้องทำการตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด
5. ไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) มีไข้สูงตลอดเวลา จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือไม่ก็ถ่ายเหลว ไม่มีน้ำมูก อาการตัวร้อนมักจะเป็นนานเป็นสัปดาห์ขึ้นไป หากสงสัยแพทย์จะทำการตรวจเลือดพิสูจน์
6. เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) จะมีไข้สูงตลอดเวลา หนาวสั่น ปวดน่อง ตาแดง ดีซ่าน หากสงสัยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
การรักษา
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดและทำการทดสอบทูร์นิเคต์ บางรายโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นรุนแรงและรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องทำการตรวจเลือดเป็นระยะ ส่วนการรักษาถ้าเป็นไม่รุนแรงอาจกินยาลดไข้-พาราเซตามอล และปฏิบัติตัวตามหัวข้อ "การดูแลตนเอง" แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจดูทุก 1-2 วัน จนแน่ใจว่าหายดี (อาจกินเวลา 7-10 วัน) ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำและทำการตรวจเลือดดูความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโทคริต) เป็นระยะๆ ในรายที่มีเลือดออก ก็จำเป็นต้องให้เลือดทดแทน
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการเจาะเลือด ตรวจดูความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโทคริต) ซึ่งจะพบว่ามีความเข้มข้นมากกว่าปกติ (มีค่ามากกว่าร้อยละ 50) ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือด (ทำหน้าที่ห้ามเลือด) ซึ่งจะต่ำกว่าปกติ เป็นเหตุให้มีเลือดออกง่าย การวินิจฉัยที่แน่นอน คือ การตรวจเลือดพบร่องรอยของการติดเชื้อไข้เลือดออก
การดูแลตนเอง
ในระยะ 2-3 วันแรกของการเป็นไข้อาการอาจไม่ชัดเจน คือ ยังกินอาหารได้ ดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน ไม่ปวดท้อง ไม่มีจ้ำเลือดขึ้น ไม่มีเลือดออก ยังลุกเดินไปไหนมาไหนได้ ก็อาจให้การดูแลแบบไข้ทั่วๆ ไป ดังนี้
1. นอนพักผ่อนให้มากๆ
2. ห้ามอาบน้ำเย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ
3. ดื่มน้ำให้มากๆ ให้ได้วันละ 3-4 ลิตร (15-20 แก้ว) โดยทยอยจิบทีละน้อยตลอดทั้งวัน อาจเป็นน้ำสุกเปล่าๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม (ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่มีสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาล เพราะหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเป็นเลือด อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสีของน้ำที่ดื่มเข้าไปได้) น้ำส้มคั้น น้ำมะนาวคั้น หรือน้ำข้าวต้มก็ได้แล้วแต่จะชอบ หากสังเกตว่าริมฝีปากอิ่ม ลิ้นหายเป็นฝ้า คอหายแห้ง และมีปัสสาวะออกมากและใส ก็ถือว่าร่างกายได้น้ำเพียงพอ ซึ่งการปฏิบัติในข้อนี้จะช่วยป้องกันมิให้ร่างกายขาดน้ำและเกิดภาวะช็อกได้ ควรดื่มน้ำมากๆ ให้ได้ทุกวันจนพ้นระยะวิกฤติ (ประมาณ 7 วัน)
4. ให้กินยาลดไข้ พาราเซตามอล
ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1-2 เม็ด
เด็กโต กินครั้งละ ครึ่ง - 1 เม็ด
เด็กเล็ก ใช้ชนิดน้ำเชื่อม กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา
ถ้ายังมีไข้ให้กินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ถ้าไข้ยังไม่ลดห้ามกินยาถี่กว่านี้ เพราะการกินยาพาราเซตามอล มากเกินขนาดอาจมีพิษต่อตับได้ ส่วนแอสไพริน (เช่น ยาแก้ไข้ชนิดซองยี่ห้อต่างๆ) ห้ามกินเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้มีอาการเลือดออกได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแอสไพรินทำให้เลือดไม่แข็งตัว การกินยาลดไข้อาจทำให้ไข้ลดเพียงชั่วประเดี๋ยว หรืออาจไม่ได้ผลเลยก็ได้ ควรใช้วิธีเช็ดตัวบ่อยๆ จะช่วยให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น
5. ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง อาเจียน กินไม่ได้ ดื่มน้ำได้น้อย นอนซึม ปัสสาวะออกน้อยและเป็นสีน้ำชา มีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออก หรือมีความวิตกกังวล ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
การป้องกัน
1. ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก การป้องกันอยู่ที่การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น
ปิดฝาโอ่งน้ำ และล้างโอ่งน้ำทุก 10 วัน
เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 10 วัน สำหรับแจกันพลูด่าง ต้องใช้น้ำชะล้างไข่หรือลูกน้ำที่เกาะติดตามราก
จานรองตู้กับข้าว ควรใส่น้ำเดือดลงไปทุก 10 วัน หรือใส่เกลือแกงในน้ำที่อยู่ในจานรองตู้ ขนาด 2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว
ควรเก็บกระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่าๆ หรือสิ่งที่จะเป็นที่ขังน้ำ ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน โรงเรียน และแหล่งชุมชน ทำลายหรือฝังดินให้หมด
ปรับพื้นบ้านและสนามอย่าให้เป็นหลุมเป็นบ่อที่มีน้ำขังได้
วิธีที่สะดวก คือ ใส่ทรายอะเบต (abate) ชนิดร้อยละ 1 ลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด ในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร (ตุ่มมังกรขนาด 8 ปีบ ใช้อะเบต 2 ช้อนชา, ตุ่มซีเมนต์ขนาด 12 ปีบ ใช้อะเบต 2.5 ช้อนชา) ควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน น้ำที่ใส่ทรายอะเบตสามารถใช้ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย
2. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนเมื่อเข้าใกล้ฤดูฝน และทำการรณรงค์ให้มีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพร้อมๆ กันทั้งในบ้าน โรงเรียน และแหล่งชุมชน จึงจะได้ผลต่อการควบคุมยุงลาย
3. เด็กที่นอนกลางวันควรกางมุ้งอย่าให้ยุงลายกัด
ความชุก
ไข้เลือดออกมักพบระบาดในช่วงฤดูฝน หรือในพื้นที่มีน้ำขัง มียุงลายชุกชุม โรคนี้พบมากในเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 10-15 ปี ในขวบปีแรกมักพบในช่วงอายุ 7-9 เดือน ส่วนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มพบได้มากขึ้น