​ 

บึงกุ่มงาม สวนน้ำใหญ่
แหล่งพักอาศัย ประชาร่วมใจพัฒนา

 

อำนาจหน้าที่

           สำนักงานเขต มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครอง การทะเบียน การจัดทำแผนพัฒนาเขต การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ การสาธารณูปการ การส่งเสริม การฝึก การพัฒนาคุณภาพชีวิต การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การส่งเสริมการกีฬา การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎร การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน การควบคุมการเลี้ยงสัตว์ การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์ การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ การคุ้มครอง ดูแลบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การวิศวกรรมจราจร การดูแลรักษาที่สาธารณะ การควบคุมอาหาร การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยการส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ การจัดเก็บรายได้ การบังคับการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

 

วิสัยทัศน์

           เขตบึงกุ่มเป็นแหล่งพักอาศัยที่น่าอยู่ที่สุดของกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก

 

ประวัติความเป็นมา

           ประมาณ พ.ศ.2386 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบดินทรเดช (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองหลวงพระบางจนได้รับชัยชนะ และได้กวาดต้อนครอบครัวจากหัวเมืองรายทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขตบึงกุ่มและเขตคันนายาวในปัจจุบัน ในย่านนั้นมีคลองสายหนึ่งซึ่งแยกจากคลองแสนแสบและไหลผ่านบึงเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ มีต้นกุ่มขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกแหล่งน้ำสองแห่งนั้นว่า "คลองกุ่ม" และ "บึงกุ่ม"

           เมื่อมีผู้คนอพยพเข้าไปอาศัยและทำมาหากินในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ย่านคลองกุ่มและพื้นที่ใกล้เคียงจึงได้รับการจัดตั้งเป็น ตำบลคลองกุ่ม เป็นตำบลหนึ่งที่ขึ้นกับอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร โดยกระทรวงมหาดไทยก็ได้ขยายเขตสุขาภิบาลบางกะปิให้ครอบคลุมถึงตำบลคลองกุ่มด้วยใน พ.ศ.2506

           ใน พ.ศ.2514 จังหวัดพระนครถูกรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และใน พ.ศ.2515 จึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่ ตำบลคลองกุ่มได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงคลองกุ่ม อยู่ในการปกครองของเขตบางกะปิ

           เนื่องจากเขตบางกะปิมีพื้นที่กว้างขวางมากและมีประชากรหนาแน่นขึ้น เพื่อความสะดวกในการบริหารราชการ "เขตบึงกุ่ม" ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอย่างเป็นทางการเมื่อได้มีการแยกพื้นที่ปกครองออกจากเขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกะปิ พร้อมทั้งจัดตั้งเขตบึงกุ่มและเขตลาดพร้าว ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 เป็นต้นมา โดยเขตบึงกุ่มประกอบด้วยเขตการปกครอง 3 แขวง คือ แขวงคลองกุ่ม แขวงคันนายาวและ แขวงสะพานสูง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 81.12 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบึงกุ่ม โดยยกระดับเขตการปกครองแขวงคันนายาวจัดตั้งเป็นเขตคันนายาว และเขตการปกครองแขวงสะพานสูงจัดตั้งเป็น เขตสะพานสูงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2540

การแบ่งเขตการปกครอง

 

 

สัญลักษณ์เขตบึงกุ่ม

           สีประจำเขต สีชมพู, ฟ้าคราม

           ธงประจำเขต พื้นธงสีฟ้าคราม ปักวางตราสัญลักษณ์ประจำเขตกลางผืนผ้าดวงใหญ่กลางผืน ทั้งธงผ้าปักตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร คือ รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนผืนผ้าติดด้ามธง

           ความหมายของ “ตราสัญลักษณ์ประจำเขตบึงกุ่ม”
            พื้นน้ำสีฟ้าคราม แทนความหมายของความสงบสุข ร่มเย็น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
           ดอกกุ่มสามดอก แทนความหมายของประชาชนในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็ ล้วนแต่เป็นพี่น้องเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก สามัคคี
           นกสองตัวบินอยู่ บนท้องฟ้าเหนือพื้นดิน ผืนน้ำ แทนความหมายของความเป็นอิสระในความคิดแสดงถึงการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี มีความสอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน รูปวงกลมล้อมรอบ
           เครื่องหมายข้างต้นทั้งหมด แทนความหมายของความสมาน สามัคคี ความกลมเกลียว ของพี่น้องประชาชน ข้าราชการ ลูกจ้างเขตบึงกุ่ม หน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เขตบึงกุ่ม
           สรุปความหมายโดยภาพรวมของตราสัญลักษณ์ประจำเขตบึงกุ่ม ประชาชนเขตบึงกุ่ม รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้าง หน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็อยู่รวมกันด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยู่กันอย่างสงบสุข ร่มเย็น ล้อมรอบไปด้วยความรัก สามัคคี มีความกลมเกลียว ขณะเดียวกันก็มีอิสระในความคิด แต่ก็เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี ทำงานเป็นทีม เดินไปในทิศทางเดียวกัน