ประชุมแนวดิ่งการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
image

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ประชุมแนวดิ่งการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกทม. นัดแรก ปี 67 ตั้งเป้าใช้งบ 80% ดึงบริการสุขภาพลงชุมชน 

(6 พ.ย.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวดิ่งการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566          ณ ห้องประชุม ชั้น 15 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง และผ่านระบบทางไกล (Teleconference)

โดยการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 (ต.ค.65-ก.ย.66) ซึ่งได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมทั้ง 50 เขต รวมทั้งสิ้น 665 โครงการ แบ่งเป็นโครงการการส่งเสริมสุขภาพ 538 โครงการ การฟื้นฟูสมรรถภาพ 2 โครงการ การป้องกัน 125 โครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากการดำเนินโครงการมากที่สุด คือ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน หลายกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้สูงอายุ และอื่นๆ ตามลำดับ สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 326 โครงการ กำลังดำเนินการ 221 โครงการ ยังไม่ได้ดำเนินการ 43 โครงการ และยกเลิกโครงการ 75 โครงการ เหตุผลที่ยกเลิกโครงการ เนื่องจากมีการทบทวนกลุ่มเป้าหมายสิทธิ UC และ NON UC โครงการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ กิจกรรมที่ดำเนินการไม่ได้ลงถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง โครงการไม่สามารถวัดผลและเป็นไปตามตัวชี้วัดได้เนื่องจากเสนอโครงการเข้ามาใหม่ แต่เปลี่ยนผู้เสนอโครงการเป็นองค์กรหรือกลุ่มประชาชน

สำหรับการอนุมัติแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้ง 50 เขต ปัจจุบันอนุมัติรวม 61 โครงการ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 20 โครงการ กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 16 โครงการกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 3 โครงการ กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 5 โครงการ กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 17 โครงการ ประเภทการจัดบริการแบ่งเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ 55 โครงการ การป้องกันโรค 5 โครงการ และ PLC/LTC 1 โครงการ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รายงานแนวทางการดำเนินการเพื่อสนับสนุนสำนักงานเขตในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Action plan) ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนฯ ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับกรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรร อีกทั้งแนะนำการใช้โปรแกรมกองทุนฯ ให้แก่สำนักงานเขต ซึ่งประโยชน์คือ ประชาชนสามารถเสนอโครงการผ่านโปรแกรมกองทุนฯ ได้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการจัดทำเอกสาร และกองทุนฯ สามารถใช้กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานได้ ด้านการจัดทำแผนสุขภาพเขตขณะนี้มีเขตที่ส่งแผนแล้ว จำนวน 6 เขต โดยเขตที่เหลือ รองผู้ว่าฯ ทวิดาได้กำชับให้ส่งแผนให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

ในการประชุมวันนี้มี นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้อำนวยการเขตและผู้แทนทั้ง 50 สำนักงานเขต ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม