กทม. รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย “คลองผดุงกรุงเกษม” ประเภท เมืองเดิมน่าอยู่

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564
image

(24 ธ.ค.64) เวลา 10.00 น. : นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย “เมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม” ประเภท เมืองเดิมน่าอยู่ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

โดยวันนี้มีการประกาศรับรองการเป็นพื้นที่พัฒนาเมือง 15 เมือง ประกอบด้วย 1.เมืองอัจฉริยะคลองผดุงกรุงเกษม 2.เมืองอัจฉริยะสามย่าน 3.เมืองอัจฉริยะมักกะสัน 4.เมืองอัจฉริยะพระราม4 5.เมืองอัจฉริยะภูเก็ต 6.เมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7.เมืองอัจฉริยะนครสวรรค์ 8.เมืองอัจฉริยะฉะเชิงเทรา 9.เมืองอัจฉริยะเชียงใหม่ 10.เมืองอัจฉริยะยะลา 11.เมืองอัจฉริยะวังจันทร์ วัลเลย์ 12.เมืองอัจฉริยะขอนแก่น 13.เมืองอัจฉริยะตรัง 14.เมืองอัจฉริยะแม่เมาะ และ 15.เมืองอัจฉริยะแสนสุข

สำหรับโครงการ Smart City ”เมืองอัจฉริยะ" ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยรูปแบบการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. เมืองเดิมน่าอยู่ พัฒนาจากเมืองเดิมที่มีอยู่แล้วก่อนนำโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เป็นสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 2. เมืองใหม่ คือสร้างเมืองใหม่เป็นพื้นฐานสมัยใหม่ วางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ สร้างสิ่งในความสะดวกขึ้นมาใหม่ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองใหม่แห่งนี้ โดยมีองค์ประกอบการพัฒนา 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. Smart Environment คือต้องมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. Smart Economy คือต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการประกอบอาชีพในการทำธุรกิจ 3. Smart Mobility คือการเดินทางการขนส่งของพี่น้องประชาชนโลจิสติกส์ต่างๆ ในเมืองต้องสะดวกและปลอดภัย 4. Smart Governance คือการบริหารจัดการเมือง การบริหารของหน่วยงานภาครัฐในเมืองต้องโปร่งใสเป็นธรรมและประชาชนต้องมีส่วนร่วม 5. Smart Living ประชาชนต้องเข้าถึงบริการทางการแพทย์ มีการลดปัญหาอาชญากรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของแต่ละพื้นที่จะพัฒนาตามเส้นทาง และบริบทของแต่ละพื้นที่ 6. Smart People ประชาชนที่อยู่ในเมืองต้องได้รับการพัฒนาอาชีพ ต้องมีการให้ความรู้ เสริมทักษะต่างๆ เพื่อให้มีกำลังคนที่พร้อมในการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต 7. Smart Energy เรื่องของพลังงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง โดยพลังงานทดแทนต้องถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาเมืองนั้นให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

------

ที่มา : เพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์