กิจกรรม Placemaking Week

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566
image

ชวนเที่ยว 5 ย่านทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ ในกิจกรรม Placemaking Week บัดนี้ถึงวันที่ 29 ตค. 66

(20 ต.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “สัปดาห์การออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่ Placemaking Week Thailand 2023” ณ บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โดยมี นายขวัญเมือง บุญประสงค์ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (USL) นางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย และตลาดอาเซียน ผู้แทนภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab : USL) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ Placemaking X องค์กรระดับนานาชาติที่ทำงานด้านการสร้างเครือข่ายการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในชุมชนเมือง จัดกิจกรรม “สัปดาห์การออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่ Placemaking Week Thailand 2023” ภายใต้หัวข้อ “Diverse + City : เมืองหลากหลาย” ระหว่างวันที่ 20 - 29 ตุลาคม 2566 โดยมุ่งเน้นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในเมืองอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เฉลิมฉลองความหลากหลายทางด้านอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในชุมชนเมือง

Placemaking Week เป็นนิทรรศการการแสดงการออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่อย่างมีส่วนร่วม เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และได้มีการจัดงานขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เคนยา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนในประเทศไทย ปีนี้เป็นการจัดงานขึ้นครั้งแรก

สำหรับพื้นที่จัดกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร จะครอบคลุม 5 ย่านทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ ได้แก่ นางเลิ้ง ปากคลองตลาด บำรุงเมือง ตลาดน้อย และพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในการทดลองทำห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต เพื่อทดลองออกแบบให้เกิดการใช้งานพื้นที่สาธารณะ และเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็น “สถานที่ที่มีชีวิตชีวา”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (USL) กล่าวว่า ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ Bangkok 1899 ตลอดจนความร่วมมือ “อีเลิ้ง” ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินในพื้นที่ จึงทำให้ “ย่านนางเลิ้ง” เป็นพื้นที่กิจกรรมหลักสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มากไปกว่านั้น ยังได้มีกิจกรรมเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก Weave Artisan Society (วีฟ อาร์ติซาน โซไซตี้) และเครือข่ายผู้ทำงานฝีมือในชุมชนวัวลายด้วย

ตลอดสัปดาห์การออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่ Placemaking Week Thailand 2023 นั้น นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลงานการออกแบบสร้างสรรค์พื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมเวทีเสวนา เพื่อเปิดโอกาสให้เครือข่ายของผู้ทำงานด้านการสร้างสรรค์ย่านและพัฒนาเมืองได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานและพูดคุยถึงแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์พื้นที่ในรูปแบบใหม่ ๆ ส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานในย่านของตนเอง อีกทั้งยังมีการจัดอบรมข้าราชการเพื่อส่งต่อความรู้ด้าน Placemaking ร่วมกับเครือข่ายนานาชาติ นอกจากนั้นทาง USL ได้เริ่มเชื่อมต่อเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายในเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ไปแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายของนักสร้างสรรค์พื้นที่ (Placemaker Network) ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนการขับเคลื่อนย่านต่าง ๆ ทั่วทั้งเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ จาก ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ฟันด์ (Ford Motor Company Fund) ฟอร์ด ประเทศไทย และพันธมิตรระดับพื้นที่ ได้แก่

* Human of Flower Market (มนุษย์ปากคลองฯ) ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะของย่านปากคลองตลาดให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะและกิจกรรมสันทนาการของชุมชน โดยตอนนี้มีการติดตั้ง Installation Art ชื่อ “สอยดาวสอยดอก” ซึ่งสามารถไปเยี่ยมชมได้ที่ลาน MRT สนามไชย

* Urban Ally (ศูนย์มิตรเมือง) ซึ่งนำพื้นที่ผิวจราจรในย่านพระนครมาทดลองทำเป็นสวนขนาดเล็ก ชื่อ “ปุบปับspace” สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่ ถนนมหรรณพ หน้าร้านข้าวมันไก่แซ่พุ้น

* Design for creative economy lab ที่มาร่วมเปิดศักยภาพพื้นที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าที่ปิดตัวไปแล้ว ให้ฟื้นฟูเพื่อเป็นสถานที่ที่ชุมชนจะสามารถเข้ามาใช้ได้ โดยสามารถรับชมนิทรรศ “เรา-เล่า-นางเลิ้ง” ได้ตลอด 10 วัน ในกิจกรรม Placemaking week

* ปั้นเมือง ซึ่งได้ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะริมคลองผดุงร่วมกับชุมชนโปลิศสภา และชุมชนโชฎึก โดยทำกระบวนการการออกแบบและการจัดการงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน

* อีเลิ้ง (ชุมชนนางเลิ้ง) ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่สวนจักรพรรดิ สวนกินได้ขนาดเล็กของชุมชนจักรพรรดิพงษ์ เพิ่มพื้นที่การเข้าถึงแหล่งอาหารและเป็นพื้นที่นันทนาการของชุมชน ทั้งนี้ สามารถไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนได้ตลอดทั้ง 10 วัน ณ สวนจักรพรรดิ ทางเข้าอยู่ด้านข้างร้าน Tora Choc ถนนหลานหลวง

* Bamboosaurus สถาปนิกชุมชนผู้เชี่ยวชาญด้ายสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ที่มาร่วมออกแบบศาลาชั่วคราวเพื่อทดลองเพิ่ม Function ให้แก่พื้นที่สาธารณะริมคลองผดุงกรุงเกษม และทำกระบวนการออกแบบกับเยาวชนในชุมชน ผ่านการทำ Workshop ซึ่งสามารถไปเยี่ยมชมผลงาน “คลองผดง คลองผดุง” ได้ที่ริมคลองผดุงฯ ท่าเรือหัวลำโพง

* CERCA ผลิตภัณฑ์สำหรับตกแต่งอาคาร ที่มาร่วมออกแบบศาลาเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้พื้นที่ริมคลอง ทั้งนี้ สามารถไปเยี่ยมชม “นั่งเล่น นางเลิ้ง” ได้ที่ริมคลองผดุงฯ ตรงข้ามวัดโสมนัส

* Weave Artisan Society ที่ได้เปิดศักยภาพชุมชนศิลปหัตถกรรมย่านวัวลาย โดยรวบรวมคนในชุมชนที่ทำงานคราฟท์ทั่วทั้งย่าน เด็ก ๆ และเยาวชนในชุมชน ทำแผนที่เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมากขึ้น ทั้งยังร่วมออกแบบป้ายชื่อร้านค้า ผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของย่านอีกด้วย โดยหากมีโอกาส สามารถไปเยี่ยมชมนิทรรศการ “Hidden craft network of วัวลาย” ได้ที่ Weave Artisan Society จังหวัดเชียงใหม่

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊ก “Placemaking Thailand” https://www.facebook.com/profile.php?id=100095617329083

—————————