งานทะเบียนราษฎร

การแจ้งเกิด

หลักเกณฑ์ : ให้เจ้าบ้านที่เด็กเกิด หรือบิดามารดาของเด็กแจ้งการเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเกิด

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่จะเพิ่มชื่อเด็ก

2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง และบัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา (ถ้ามี)

3. หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ที่สถานพยาบาลออกให้

หมายเหตุ การแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ (15 วัน) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000.-บาท

การแจ้งตาย

หลักเกณฑ์ : ให้เจ้าบ้านหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้ที่พบศพ แจ้งการตายต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตายภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาที่พบศพ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งตาย

2. บัตรประจำตัวประชาชนของคนตาย (ถ้ามี)

3. หนังสือรับรองการตาย (ท.ร.4/1) ที่สถานพยาบาลออกให้

4. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่คนตายมีชื่อ (ถ้ามี)

หมายเหตุ การแจ้งตายเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ (24 ชั่วโมง) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000.-บาท

การแจ้งย้ายที่อยู่

การแจ้งย้ายออก ให้เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนย้ายออกแจ้งการย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คนย้ายออกจากบ้าน

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่คนย้ายออกมีชื่ออยู่

2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน

4. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้ที่ได้รับมอบหมายไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน)

การแจ้งย้ายเข้า ให้เจ้าบ้านของบ้านที่มีคนย้ายเข้าแจ้งการย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นเข้าอยู่ในบ้าน

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่จะย้ายชื่อเข้าไปอยู่

2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน

3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน

4. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้ที่ได้รับมอบหมายไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน)

5. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.6) ตอนที่ 1 และ 2 ที่ได้มาจากการแจ้งย้ายออก

หมายเหตุ - กรณีบ้านว่างยังไม่มีเจ้าบ้านและผู้อาศัย ต้องนำเอกสารหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย คำขอเลขหมายประจำบ้านฯ (ฉบับจริง) พร้อมคำยินยอมของเจ้าของกรรมสิทธิมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่

-การแจ้งย้ายเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด (15 วัน) ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000.-บาท

การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางอัตโนมัติ

หลักเกณฑ์ : ผู้ย้ายที่อยู่สามารถติดต่อขอแจ้งย้าย ณ สำนักทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะย้ายเข้าแห่งเดียว โดยไม่ต้องกลับไปแจ้งการย้ายออก ณ สำนักทะเบียนที่บ้านเดิมตั้งอยู่

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่จะย้ายชื่อเข้าไปอยู่

2. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า

3. บัตรประจำตัวประชาชนของคนที่ย้ายเข้าอยู่ในบ้าน

4. หนังสือแสดงความยินยอมของเจ้าบ้านที่อนุญาตให้เข้าอยู่บ้าน

หมายเหตุ - กรณีบ้านว่างยังไม่มีเจ้าบ้านและผู้อาศัย ต้องนำเอกสารหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย คำขอเลขหมายประจำบ้านฯ (ฉบับจริง) พร้อมคำยินยอมของเจ้าของกรรมสิทธิมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่

- การแจ้งย้ายปลายทาง เสียค่าธรรมเนียม 20.-บาท

งานบัตรประจำตัวประชาชน

1. กรณีขอทำบัตรครั้งแรก

ผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100.-บาท

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)

2. สูติบัตร หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ที่มีรูปถ่าย เช่น บัตรประจำตัวนักเรียนสำเนาทะเบียนนักเรียน หนังสือเดินทาง เป็นต้น

3. หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้าน หรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง*

หมายเหตุ ไม่เสียค่าธรรมเนียม

2. กรณีบัตรเดิมหมดอายุ

เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ ให้ทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ

หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100.-บาท

ผู้ถือบัตรสามารถขอทำบัตรใหม่ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุได้ โดยให้ยื่นคำขอภายใน 60 วัน ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุ

3. กรณีบัตรหายหรือถูกทำลาย

เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนหายหรือถูกทำลาย ให้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักทะเบียนที่ประสงค์จะทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรหายหรือถูกทำลาย

หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100.-บาท

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)

2. เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ ใบสุทธิ หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น

3. หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้าน หรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การับรอง* หมายเหตุ เสียค่าธรรมเนียม 20.-บาท

4. กรณีเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล

หากเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล หรือเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลต้องเปลี่ยนบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100.-บาท

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)

2. บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ต้องการเปลี่ยน

3. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล แล้วแต่กรณี

หมายเหตุ เสียค่าธรรมเนียม 20.-บาท

5. กรณีที่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นขอทำบัตร

ผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประขาชน เช่น พระภิกษุ สามเณร ฯลฯ จะขอทำบัตรประจำตัวประชาชนก็ได้

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) เช่น กรณีพระภิกษุ สามเณร ให้นำสำเนาทะเบียนบ้านของวัดที่พระภิกษุ หรือ สามเณรมีชื่ออยู่ไปแสดง เป็นต้น

2. หลักฐานที่แสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตร เช่น หนังสือสุทธิของพระภิกษุ หรือหนังสือเดินทาง กรณีเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ณ ต่างประเทศ

หมายเหตุ เสียค่าธรรมเนียม 20.-บาท

6. กรณีผู้ถือบัตรย้ายที่อยู่

เพื่อให้รายการที่อยู่ปรากฏในบัตรประจำตัวประชาชนตรงกับรายการในทะเบียนบ้าน ผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรโดยที่บัตรเดิมยังไม่หมดอายุสามารถทำได้แต่หากไม่ขอเปลี่ยนบัตร ก็สามารถใช้บัตรนั้นต่อไปจนกว่าบัตรจะหมดอายุ

หมายเหตุ เสียค่าธรรมเนียม 20.-บาท

*บุคคลผู้น่าเชื่อถือ หมายถึง “บุคคลใดๆ ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อยู่แน่นอน มีอาชีพมั่นคง และมีความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ขอมีบัตรเป็นอย่างดี อาจเกี่ยวข้อง เป็นญาติกันหรือไม่ก็ได้”

 

งานทะเบียนทั่วไป

1. ทะเบียนการสมรส

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส

2. ใบสำคัญการหย่า (กรณีเคยหย่า) ใบมรณะบัตร และใบสำคัญการสมรส (กรณีคู่สมรสเดิมเสียชีวิต) ฝ่ายหญิงหากหย่ายังไม่เกิน 310 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

3. หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสจากสถานทูตพร้อมคำแปลเป็นภาษาไทยที่กรมการกงสุลรับรองแล้ว (กรณีที่คู่สมรสเป็นคนต่างชาติ)

4. คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องนำบิดาและมารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอมด้วย

เอกสารแนบท้าย

2. ทะเบียนการหย่า

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคู่หย่า

2. ใบสำคัญการสมรสหรือสำเนาทะเบียนสมรส

3. หนังสือสัญญาหย่า (กรณีจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอม)

4. สำเนาคำพิพากษาถึงที่สุดและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (กรณีจดทะเบียนหย่าตามคำพิพากษาศาล)

3. ทะเบียนการรับรองบุตร

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน

2. มารดาเด็กและเด็กต้องมาแสดงความยินยอมพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของมารดาและสูติบัตรของเด็ก

3. คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (กรณีมารดาเสียชีวิต หรือบุตรเป็นผู้ไร้เดียงสา)

4. ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. ผู้จะรับบุตรบุญธรรมและผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฝ่ายหากมีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมด้วย

2. หนังสืออนุมัติจากคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)

3. ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมต้องให้ความยินยอม (กรณีอายุ 15 ปีขึ้นไป)

4. ผู้จะรับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

5. ทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฝ่ายหากมีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมด้วย

2. สำเนาทะเบียนบ้านรับบุตรบุญธรรม

3. ผู้มีอำนาจให้ความยินยอม (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)

6. ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน

2. เอกสารที่จะขอบันทึก ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยและการรับรองคำแปลถูกต้องจากกระทรวงการต่างประเทศ

หมายเหตุ - งานทะเบียนทั่วไป ข้อ 1-6 มีพยาน จำนวน 2 คน พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน

ทะเบียนชื่อบุคคล

ให้ยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

1. การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง

หลักเกณฑ์

1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม

2. ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

3. ต้องไม่มีเจตนาทุจริต

4. ชื่อรองที่ขอตั้ง จะต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น ยกเว้นการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสเป็นชื่อรอง แต่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสที่ใช้ชื่อสกุลนั้นอยู่

5. กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดา หรือบิดาเป็นชื่อรองได้

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ของผู้ร้อง

2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง

3. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว) โดยมีเงื่อนไขว่าได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว

หมายเหตุ เสียค่าธรรมเนียม 50 บาท

2. การขอจดทะเบียนชื่อสกุล

หลักเกณฑ์

1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม

2. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของบุพการี หรือของผู้สืบสันดาน

3. ต้องเป็นคำที่ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทาน หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

4. ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

5. มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีเป็นราชทินนาม

6. ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า “ณ” นำหน้าชื่อสกุล

7. ห้ามเอานามพระมหานคร และศัพท์ที่ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธยมาใช้เป็นชื่อสกุล

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

1. สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ของผู้ร้อง

2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง

3. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว) โดยมีเงื่อนไขว่า ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว

หมายเหตุ เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท
 

เอกสารแนะนำสำหรับคู่สมรส (ตัวอย่าง)


อัตราค่าธรรมเนียม

 

- จดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

- จดทะเบียนนอกสำนักทะเบียน ค่าธรรมเนียม 200 บาท (ผู้ร้องต้องจัด

พาหนะรับส่ง หรือจ่ายค่าพาหนะให้กับนายทะเบียนตามสมควร)

- จดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

- จดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน ค่าธรรมเนียม 200 บาท

- จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ไม่เก็บค่าธรรมเนียม

- จดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม ไม่เก็บค่าธรรมเนียม
 

เวลาให้บริการของฝ่ายทะเบียน

 

วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 16.00 น. (ไม่พักเที่ยง)

วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 16.00 น. (ยกเว้นทะเบียนครอบครัว และทะเบียนชื่อบุคคล)

วันอาทิตย์ รับแจ้งตาย