พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร

การสะสมแสตมป์ถือเป็นงานอดิเรกที่นิยมกันทั่วโลก นอกจากจะมีมานานและมีวิวัฒนาการตลอดเวลาสิ่งที่สะสมก็ยังมีหลากหลาย ทั้งนี้การสะสมแสตมป์ยังเปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ ด้วยการย่ออารยธรรมไว้บนกระดาษแผ่นเล็ก ซึ่งจะเพิ่มคุณค่าตามกาลเวลา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งสะสมตราไปรษณียากร และรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับตราไปรษณีย์ไทย ตราไปรษณียากรและแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกตั้งแต่ชุดแรกจนถึงปัจจุบัน ขั้นตอนการจัดสร้างและวิธีการพิมพ์ตราไปรษณียากรไทย ภาพร่างต้นแบบไปรษณียากร 

ตั้งอยู่ที่สำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์นครหลวงเหนือ ถนนพหลโยธิน โทร. 0-2506-3344 เปิดวันอังคาร - เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.

สวนพญาไทภิรมย์
เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของเขตพญาไท โดยใช้พื้นที่ว่างใต้ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 สายบางโคล่-แจ้งวัฒนะ) บริเวณปากซอยศาสนา ถนนพระราม 6 เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ปลูกพืชสมุนไพรไว้ถึง 205 ชนิด เพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ให้คงอยู่และสืบทองถึงลูกหลาน เพราะสมุนไพรทุกต้นจะมีป้ายบอกชื่อและสรรพคุณการรักษาโรค เพื่อให้ประชาชนได้หาความรู้ได้ นอกจากนี้ ภายในสวยยังจัดให้มี สนามเด็กเล่น ลานกีฬา สวนหย่อม และซุ้มหนังสือริมทางไว้บริการประชาชนทั่วไปด้วย



พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน
จากการเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษของรัชกาลที่ 6 ทรงทอดพระเนตรเห็นการดำเนินงานคลังออมสินของอังกฤษ ซึ่งทำหน้าที่ระดมเงินออมจากประชาชนรายย่อยมาให้รัฐบาลใช้เป็นเงินทุนประกอบกิจกรรมต่างๆ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงทรงมีพระราชประสงค์ดำเนินกิจการออมสินขึ้นในประเทศไทย และหลังจากดำเนินงานครบ 78 ปี พิพิธภัณฑ์ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 สิ่งของที่จัดแสดงมีตั้งแต่สมุดฝากในอดีตจนถึงปัจจุบัน สลากออมสิน ปฏิทิน กล่องออมสิน สื่อสิ่งพิมพ์ ของชำร่วย เงินตราโบราณ ฯลฯ
ตั้งอยู่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ อาคาร 72 ปี ชั้น 3 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน โทร. 0-2299-8000 เปิดวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.

หอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์
เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการกระจายเสียง และการประชาสัมพันธ์ยุคแรกของไทย เช่น ประวัติกำเนิดวิทยุ-โทรทัศน์ ประวัติผู้ประกาศ ประวัติผู้จัดรายการยุคแรก ตลอดจนจัดเก็บรายการกระจายเสียงที่มีคุณค่าต่อเนื่องทั้งในอดีตและปัจจุบันรวบรวมหลักฐานการทำงาน ประวัติหน่วยงาน ผลงานดีเด่นที่เกิดจากการทำงานของทั้งบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กร เช่น หนังสือครบรอบวันสำคัญ ภาพถ่าย สไลด์ โปสการ์ด บัตรเชิญ ของที่ระลึก สมุดลงนาม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงให้สาธารณชนใช้ในการศึกษา ค้นคว้า
สถานที่ตั้ง  หอจดหมายเหตุ  กรมประชาสัมพันธ์  อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ ชั้น 2 ซอยอารีย์ ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
                โทร. 0-2618-2323 ต่อ 2212 หรือ 2214
                โทรสาร. 0-2618-2323 ต่อ 2213



พิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง  กรมประชาสัมพันธ์
อนุรักษ์เครื่องมือเครื่องใช้ด้านการกระจายเสียง และการประชาสัมพันธ์ ภายใต้การดำเนินงานของกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังมีแหล่งในการศึกษาประวัติวิวัฒนาการของเครื่องมือทางการสื่อสารมวลชน
พิพิธภัณฑ์เป็นนโยบายของกรมประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อตั้งเมื่อปี 2476 โดยจัดตั้งแผนกส่งเสริมความรู้มหาชนขึ้นเพื่อทำหน้าที่สนับสนุน เผยแพร่ความรู้ของพลเมืองโดยวิธีต่าง ๆ เช่น ปาฐกถา ภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์
เชิญชวนบริจาค  
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ด้านการกระจายเสียง อาทิ วิทยุโบราณ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องเล่นกระบอกเสียง  เทปรายการวิทยุกระจายเสียงบันทึกเสียง บุคคล-เหตุการณ์สำคัญ แผ่นเสียง บัตรประจำตัวผู้ประกาศ ฯลฯ
สถานที่ตั้ง  พิพิธภัณฑ์การกระจายเสียง   กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ซอยอารีย์ ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
                โทร. 0-2618-2323 ต่อ 2212 หรือ 2214          โทรสาร. 0-2618-2323 ต่อ 2213

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5
ปัจจุบันสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) มีเครือข่าย 30 เครือข่าย การผลิตและการเสนอข่าวกว้างขวางครอบคลุมทั่วประเทศ ทั่วภูมิภาคของโลก นอกจากเครื่องมือ อุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว ททบ.5 มีห้องนำส่ง สำหรับรายงานข่าว 1 ห้อง รายการ TALK SHOW 1 ห้อง รายการแสดงรูปแบบต่าง ๆ ออกอากาศเป็นปฐมกฤษ์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 ด้วยระบบ F.C.C.(Federal Communication Committer) สัญญาณ 525 เส้น ภาพขาว-ดำ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย
ตั้งอยู่ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท



วัดไผ่ตัน
เป็นวัดแห่งเดียวในพื้นที่เขตพญาไท จึงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมงานประเพณีเป็นประจำทุกปี อาทิ งานปิดทองหลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง วันที่ 1-7 เมษายน งานทำบุญสงกรานต์ของชาวชุมชนประมาณวันที่ 11-13 เมษายน พิธีแห่และถวายเทียนจำนำพรรษา ก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ประเพณีตักบาตรเทโว วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 และประเพณีลอยกระทง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 วัดไผ่ตันตั้งอยู่ริมคลองบางซื่อ ซอยพหลโยธิน 15 ถนนพหลโยธิน มีเนื้อที่ 13 ไร่เศษ แต่เดิมชื่อวัดไส้ตัน มีอายุกว่า 200 ปี วิหารจตุรมุขประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง ซึ่งหล่อในปี พ.ศ. 2496 โบสถ์ วิหาร หอระฆัง ของเดิมเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม ได้ถูกรื้อและสร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2504 พร้อมพระประธานปางสะดุ้งมาร บานประตู หน้าต่างลงรักปิดทองภาพเรื่องราวพุทธประวัติ

บ้านเซเวียร์
บ้านเซเวียร์ เป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก โดยมูลนิธิคณะสงฆ์แห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) เป็นศูนย์รวมของประชาชนที่นับถือคริสต์ศาสนา เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดกิจกรรมทางศาสนาในวาระสำคัญของศาสนาคริสต์ มีหอพักศูนย์ฝึกอบรมนักศึกษา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 5 ไร่ ริมคลองสามเสนมีความสงบ ร่มรื่นด้วยพันธ์ไม้ที่ยืนต้นอายุกว่า 40 ปี ตัวโบสถ์บ้านเซเวียร์มีความสวย สง่างาม ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2527 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
สถานที่ตั้ง เลขที่ 43 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท  โทร. 0-2246-4456
เปิดบริการ มิสซา เย็นวันจันทร์-เสาร์ เวลา 18.00 น.
วันอาทิตย์ เวลา 07.00, 09.00 และ 17.00 น.

มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
องค์การศาสนาเซไคคิวเซเคียว สำนักงานประเทศไทย เป็นมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยกิจกรรมทางศาสนามีวัตถุประสงค์เผยแพร่ ธรรมสู่จิตใจประชาชนทั่วไป บำเพ็ญประโยชน์และดำเนินการส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ตลอดจนส่งเสริมและดำเนินการโครงการเกษตรกรรมธรรมชาติคิวเซ โดยมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ องค์การศาสนาเซไคคิวเซเคียว สำนักงานประเทศไทย
สถานที่ตั้ง เลขที่ 20/1 ซอยพหลโยธิน 9 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น.

คริสตจักรเมืองไทย
                เป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนา โดยมูลนิธิเมืองไทยเกื้อกูล มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดกิจกรรมทางศาสนา ในวาระวันสำคัญของศาสนาคริสต์
                สถานที่ตั้ง เลขที่ 6/17 ซอยพหลโยธิน 15 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไทเปิดบริการ มิสซา วันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00-16.00 น.
วันอาทิตย์  เวลา 09.00-16.00 น.

สนามฝึกขี่ม้า
ชมรมขี่ม้าทหารม้ารักษาพระองค์ เปิดสอนขี่ม้าทุกวัน เว้นวันพุธ และวันหยุดนักขัตฤกษ์จันทร์-ศุกร์ เปิดสอนรอบแรก เวลา 17.00-18.00 น. และรอบ 2 เวลา 18.00-19.00 น.เสาร์-อาทิตย์ รอบเช้า เวลา 7.00-8.00 น. และเวลา 8.30-09.30 น.รอบบ่าย เวลา 16.30-18.00 น.เวลา 18.00-19.00 น. และเวลา 19.00-20.00 น.
ติดต่อ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ กองพลทหารม้าที่ 2 ถนนพหลโยธิน โทร. 0-2297-5104, 0-2357-1024

โรงเรียนอายุรเวท
โรงเรียนอายุรเวทเป็นสถานพยาบาลแผนไทย มีการสอนวิชาการนวดแผนไทย เพื่อบำบัดโรค เรื่องของสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค และสมุนไพรที่ใช้ประกอบการนวด รวมทั้งรับรักษาโรคต่าง ๆ ที่ต้องการบำบัดโดยวิธีการนวดตามแบบแผนไทย ซึ่งนับว่าเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามสถานพยาบาลนี้ จะไม่รับการนวดเพื่อบำบัดอาการปวดเมื่อยอย่างสถานนวดแผนโบราณทั่ว ๆ ไป ตั้งอยู่ในซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 โทร. 0-26195836-7

แหล่งซื้อสินค้า
ย่านสะพานควาย
สะพานควาย คือช่วงบริเวณถนนประดิพัทธ์ ถนนสุทธิสารวินิจฉัยตอนต้น และถนนพหลโยธินช่วงใกล้คลองบางซื่อ เรียกขานกันมานานว่า “สะพานควาย” เนื่องจากในอดีต ตอนเริ่มสร้างถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1 ของประเทศ) มีการสร้างสะพานซีเมนต์รูปโค้งข้ามคลองที่แยกจากคลองบางซื่อเพื่อให้รถยนต์วิ่ง แต่ไม่มีรถยนต์เท่าใด ชาวนาในพื้นที่นั้นจึงใช้สะพานดังกล่าวให้ควายเดินเป็นประจำ ในปัจจุบันย่านสะพานควายเป็นย่านธุรกิจการค้าขายในพื้นที่แห่งหนึ่ง

ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง
ในซอยพิบูลวัฒนา 5 หลังกระทรวงการคลัง จะมีตลาดนัดทุก ๆ วัน มีร้านค้า แผงลอยจำนวนมาก นำสินค้า อาหาร ของฝาก เสื้อผ้า ของใช้นานาชนิด มาขายแก่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นแหล่งช็อปปิ้งที่น่าสนใจ