โรครองช้ำ

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565
image

โรครองช้ำ

อาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับพังผืดใต้ฝ่าเท้า ส่งผลให้มีอาการปวด ซึ่งโรครองช้ำจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่การบาดเจ็บจะค่อยๆ สะสมทีละนิดจนเกิดการอับเสบ

 

อาการสังเกตได้ด้วยตัวเอง

1. ปวดส้นเท้า เจ็บส้นเท้า หลังตื่นนอน

2. ก้าวเท้าลงพื้นแล้วปวดส้นเท้า แต่หลังจากเดินไปสัก 2 – 3 ก้าว อาการจะเริ่มดีขึ้น

3. เจ็บ หรือ ปวดส้นเท้าแบบจี๊ดๆ โดยเฉพาะตอนเดิน ยืน เป็นเวลานาน ยิ่งเคลื่อนไหวบ่อยมาก ยิ่งปวดมาก

4. หลังออกกำลังกายเสร็จ จะรู้สึกปวดส้นเท้า มากเป็นพิเศษ

5. กระดกข้อเท้า หรือ หัวแม่เท้าแล้วรู้สึกปวดมาก

 

เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย

1. อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือ เป็นผู้สูงอายุ เสี่ยงต่อการเกิดรองช้ำได้ง่าย เพราะเอ็นฝ่าเท้า ยืดหยุ่นน้อยลง

2. ผู้หญิงเสี่ยงเป็นรองช้ำ มากกว่า ผู้ชาย เนื่องจากไขมันส้นเท้าบางกว่า เส้นเอ็น และ กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อฝ่าเท้า ไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย

3. น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

4. มีความผิดปกติของรูปเท้า เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าโก่ง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นรองช้ำอักเสบได้ง่าย

5. การสวมใส่รองเท้า ที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็มีผลต่อการเกิดรองช้ำได้ เช่น ใส่ส้นสูงเป็นประจำ ใส่รองเท้าคับ หรือ หลวมเกินไป ใส่รองเท้าที่พื้นรองเท้าแข็ง หรือ แบน เป็นประจำ

6. มีอาชีพที่ต้องเดิน หรือ ยืน เป็นเวลานาน เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงทำเอ็นฝ่าเท้าอักเสบได้ง่าย เนื่องจากเท้าต้องแบกรับน้ำหนักตัว เป็นเวลานาน

7. นักกีฬา ที่ต้องใช้เท้ามาก เช่น นักวิ่ง นักฟุตบอล นักบาสเกตบอล วิ่ง หรือ ออกกำลังกายอย่างหักโหม

8. เอ็นร้อยหวายยึด ทำให้เท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ

9.ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน

 

ในทางแพทย์จีน

เมื่อคนอายุย่างสู่ 40 พลังอินในร่างกายจะลดทอนครึ่งหนึ่ง อินในที่นี้เป็นสารที่จะหล่อเลี้ยงเอ็น กระดูก ทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะตับไต เป็นสองอวัยวะที่จะเกี่ยวข้องมากที่สุด เพราะไตจะกำกับเกี่ยวข้องกับกระดูก ตับจะกำกับเกี่ยวข้องกับเอ็น ดังนั้นอาการปวดรองช้ำจึงมักจะเกิดจากอินของตับและไตไปหล่อเลี้ยงเอ็นกระดูกไม่เพียงพอ เอ็นจึงขาดความยืดหยุ่น กระดูกจึงเปราะบางและความแข็งแรงลดลง

 

อาการในแพทย์แผนจีน

อาการเจ็บมากหลังตื่นนอน หรือจากการนั่งพักนานๆ พอลงน้ำหนักจะเจ็บปวด ในขณะที่คนนอนพัก นั่งนาน การไหลเวียนจะเชื่องช้าลง ชี่และเลือด (อิน) จะไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ลดลง เมื่อการหล่อเลี้ยงไม่พอ ก็จะปวด หรือในคนที่สุขภาพอ่อนแอ (พลังไตอ่อนแอ) การไหลเวียนของชี่ลดลง เลือดจะคั่ง จึงทำให้ปวด

 

แพทย์แผนจีนฝังเข็มช่วยอะไร

ฝังเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ลดบวมระงับปวดควบคู่กับใช้จุดบำรุงเอ็น กระดูก เส้นลมปราณตับและไต

 

ท่าบริหารสำหรับโรครองช้ำ

ท่ายืดเอ็นร้อยหวายและผังพืดใต้ฝ่าเท้า

ท่าที่1

นั่งเหยียดขาข้างหนึ่งไปข้างหน้า โดยใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าไว้ แล้วดึงเข้าหาตัว จนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึงให้ยืดค้างไว้ 15-20วินาทีต่อครั้ง ทำ 5-10 ครั้ง

ท่าที่2

ยืนหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือยันกำแพงไว้โดยถอยเท้าที่ต้องการยืดไว้ข้างหลังประมาณ 2ก้าว และย่อเข่าด้านหน้าลง โดยไม่ให้เข่าเลยปลายเท้า ให้ขาหลังเหยืยดตรง และส้นเท้าติดพื้นตลอดเวลา ยืดจนรู้สึกว่าน่องตึงให้ค้างไว้ 15-20วินาทีต่อครั้ง ทำ 3-5 ครั้ง

ท่าที่3

ทำต่อจากท่าที่2 โดยเปลี่ยนเป็นงอหัวเข่าขาที่อยู่ด้านหลังเล็กน้อย โดยที่ส้นเท้ายังติดพื้น จนรู้สึกว่าน่องส่วนบนตึงให้ยืดค้างไว้ 15-20วินาทีต่อครั้ง ทำ 5-10 ครั้ง

ท่าที่4

นั่งวางฝ่าเท้าบนขวดน้ำหรือลูกเทนนิส จากนั้นคลึงไปมาใต้ฝ่าเท้า จนรู้สึกว่าพังผืดใต้ฝ่าเท้าคลายตัว

ท่าที่5

นั่งห้อยขาลงพื้น โดยนำเท้าที่มีอาการปวดวางพาดบนหน้าขาอีกข้าง โดยใช้มือจับบริเวณนิ้วเท้า ให้กระดกขึ้นให้รู้สึกตึงบริเวณใต้ฝ่าเท้า ให้ยืดค้างไว้ 15-20วินาทีต่อครั้ง ทำ 5-10 ครั้ง

 

การดูแลและป้องกัน

1.ควบคุมน้ำหนัก

2.เปลี่ยนอิริยาบถและพักเป็นเวลา

3.เลือกรองเท้าให้เหมาะสม

4.กรณีที่โครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น เท้าแบนก็ต้องใส่ Support หนุนอุ้งเท้า ซึ่งต้องพบแพทย์กระดูกเฉพาะทาง ควบคู่กับการรักษาแบบแผนจีน ซึ่งจะเน้นรักษาสร้างเสริมให้ร่างกายสมดุล คือ ให้เอ็นและกระดูกแข็งแรง ด้วยการบำรุงตับและไต

 

สามารถติดต่อขอรับการรักษาได้ที่ คลินิกแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลตากสิน อาคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชั้น 6A

 

โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. และนอกเวลาราชการ 16.00 - 20.00 น.

 

สามารถติดต่อขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายการรักษาที่ 02-437-0123 ต่อ 1671