ระวัง โรคลมแดด Heat stroke ในผู้ทำงานกลางแจ้ง

วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566
image

ระวัง โรคลมแดด Heat stroke ในผู้ทำงานกลางแจ้ง

หน้าร้อนแบบนี้ ระวัง! โรคลมแดด หรือ Heat stroke ในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง

ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง ตำรวจจราจร เกษตรกร ผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น ต้องระมัดระวังโรคจากลมร้อนต่างๆ หนึ่งในนั้นที่สำคัญคือ โรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปและไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนเกินอันตรายต่อระบบและอวัยวะต่างๆ และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด ได้แก่
- ปวดศีรษะ วิงเวียน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 40 องศา
- ไม่มีเหงื่อออก
- หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว
- อาจซึม ชักหมดสติได้

โดยเฉพาะในคนทำงานกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมาก คนอ้วน มีอาการเจ็บป่วย ขาดน้ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด และมีโรคประจำตัว

การป้องกันจากโรคลมแดด (Heat stroke) ทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทำงานกลางแดดจัด หากจำเป็นแนะนำแบ่งเวลาพักในที่ร่ม
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ 2-3 ลิตรต่อวัน
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนและระบายอากาศได้ดี
- สวมหมวกปีกกว้าง หรือหมวกนิรภัย และสวมใส่แว่นกันแดด
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- สังเกตอาการของตนเองและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งหัวหน้างานทันที
---------------------------------
กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร