“การดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝน” ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
image

“การดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝน” ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

หน้าฝน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

>สำหรับในช่วงฤดูฝน (ช่วงเดือนพฤษถาคม ถึง เดือนตุลาคม) จะมีความชื้นที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เปรียบเสมือนน้ำที่คั่งค้างอยู่ภายในร่างกายปริมาณมาก ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวขึ้น

>แพทย์แผนจีนมองว่าความชื้นเป็นพลังหยิน เป็นสิ่งก่อโรคชนิดหนึ่งซึ่งมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก คือสภาพอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง และความชื้นที่มาจากภายในอันเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบม้ามและกระเพาะอาหาร

ความชื้นในทางแพทย์แผนจีน

มี 2 แบบ คือ ร้อนชื้น และ เย็นชื้น

– ถ้าอากาศร้อนมากๆ แล้วมีฝนตก และมีลักษณะอากาศแบบร้อนอบอ้าว รู้สึกร่างกายหนักๆ เรียกว่า อากาศแบบร้อนชื้น

อาการแสดงที่พบบ่อยคือ ความรู้สึกหนักตัว ตัวร้อนหรือมีไข้ มักเกิดขึ้นในช่วงบ่าย ปากแห้งคอแห้ง แน่นหน้าอก ปัสสาวะมีสีเข้ม

– ถ้าฝนตกมากๆ อากาศเย็น ชุ่มชื้นไปทั้งวันจากฝนที่ตกไม่หยุด บรรยากาศมืดครึ้ม มีความเย็น และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง เรียกว่า อากาศแบบเย็นชื้น

อาการแสดงที่พบบ่อยได้แก่ ความรู้สึกหนักตัว มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยได้ง่าย อาจมีอาการถ่ายเหลว ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่ฝนตก

อาการที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน

ได้แก่

โรคหวัด โรคภูมิแพ้ (เช่น ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น)

อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด แน่น ท้อง คลื่นไส้ ถ่ายเหลว เป็นต้น

นอกจากนี้อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดข้อร่วมด้วย

การดูแลตัวเองในช่วงหน้าฝนเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสม

ของความชื้นภายในร่างกาย

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อับชื้น การเดินตากฝน ป้องกันการเกิดความชื้นซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆตามมา

2. หลีกเลี่ยงอาหารฤทธิ์เย็น ที่ส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เช่น น้ำแข็ง น้ำเย็น ไอศกรีม ปลาดิบ ผักสด สลัดผัก ผลไม้บางประเภท เช่น แตงโม แก้วมังกร ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น รวมไปถึงอาหารทอด มัน อาหารที่มีรสหวานจัด

3. ควรออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ

4. ต้องระวังในเรื่องของสุขอนามัย ความสะอาดของอาหารที่รับประทาน เพราะฤดูนี้เป็นฤดูที่อาหารค่อนข้างเสียและมีเชื้อราได้ง่าย หากไม่ระวังอาจก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ถึงขั้นอาหารเป็นพิษได้

5. เด็กเล็กไม่ควรรับประทานอาหารฤทธิ์เย็นหรือน้ำเย็น เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของเด็กเล็กยังค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ หากรับประทานเข้าไป อาจส่งผลให้ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียง่าย ซึ่งเป็นอาการของม้ามถูกความชื้นรบกวน เป็นต้น

6. ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

สามารถติดต่อขอรับการรักษาได้ที่ คลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลตากสิน อาคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชั้น 6A

โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.

สามารถติดต่อขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายการรักษาที่ 02-437-0123 ต่อ 1671