งานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนอกหน่วยบริการ (P&P นอก)
              เป็นหน่วยงานหนึ่งของศูนย์บริการสาธารณสุข  39 ราษฎร์บูรณะ เป็นการให้บริการสาธารณสุขเชิงรุก ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ แก่ประชาชนในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ  ในรูปแบบงานพยาบาลครอบครัว  งานสาธารสุขมูลฐาน งานสุขศึกษา งานโภชนาการ งานป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และงานบริการด้านสังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้ยังรับผิดชอบในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โดยการสำรวจข้อมูลสุขภาพประชาชน/ข้อมูลสาธารณสุขในพื้นที่ ทำการวินิจฉัยชุมชน การจัดทำแผนงาน/โครงการ ป้องกัน/แก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ งานบริการด้านอื่นๆ ได้แก่ การหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่  การจัดกิจกรรมรณรงค์  การจัดกิจกรรมสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพ ได้แก่ การจัดตั้งชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข  ชมรมผู้สูงอายุ  และชมรมออกกำลังกาย เป็นต้น
รับผิดชอบให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ขนาดพื้นที่ 6.716 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรในพื้นที่  40,636 คน จำนวนหลังคาเรือน 12,763 หลังคาเรือน  จำนวนชุมชนจัดตั้ง  15  ชุมชน  ชุมชนไม่จัดตั้ง  10  ชุมชน  ศูนย์สุขภาพชุมชน  15  แห่ง  และตู้ยาชุมชน 1 แห่ง

แผนที่แสดงสภาพภูมิสังคมพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ราษฎร์บูรณะ


การให้บริการสุขภาพ ประกอบด้วย
            การให้บริการสุขภาพครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคเบื้องต้น และฟื้นฟูสุขภาพ เน้นการดูแลแบบองค์รวม วางแผนการดูแลอย่างต่อเนื่อง และการดูแลแบบผสมผสานโดยการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว และชุมชน การประสานงานทีมสหวิชาชีพในการดูแลตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่
1.  งานพยาบาลครอบครัว
     
การสำรวจภาวะสุขภาพครอบครัว การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การสำรวจภาวะสุขภาพพระสงฆ์
     

2.  งานสาธารณสุขมูลฐาน
          การสนับสนุนการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานของอาสาสมัครสาธารณสุข การอบรมปฐมนิเทศ  การอบรมฟื้นฟูศักยภาพปีละ 1 ครั้ง  การจัดประชุมอาสาสมัครสาธารณสุข เดือนละ 1 ครั้ง  การติดตามให้คำแนะนำ ติดตามการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุข  นอกจากนี้การให้บริการด้านสุขภาพแก่อาสาสมัครสาธารณสุข. ได้แก่ การตรวจสุขภาพอาสาสมัครสาธารณสุข ปีละ 1 ครั้ง การติดตามเยี่ยมอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีปัญหาสุขภาพให้ได้รับการรักษาและปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสม
 
การอบรมฟื้นฟูศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข การจัดประชุมอาสาสมัครสาธารณสุข เดือนละ 1 ครั้ง


3.  งานสุขศึกษาในชุมชน
           การสนับสนุนสื่อเผยแพร่ความรู้ในชุมชน การให้สุขศึกษารายบุคคล รายกลุ่ม รายครอบครัว การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพในชุมชน การสอนสาธิตและสาธิตย้อนกลับ การดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่เหมาะสม  
 
   

4.  งานโภชนาการ
          การเฝ้าระวังภาวะโภชนาการในเด็กแรกเกิด - 5 ปี  การติดตามเยี่ยมให้คำแนะนำ  ประสานส่งต่อนักสังคมสงเคราะห์ ในรายที่มีปัญหาทุพโภชนาการ และจัดทำโครงการสาธิตอาหารเสริมใน ปีละ 4 ครั้ง

5.  งานป้องกันควบคุมโรคติดต่อ  ที่สำคัญได้แก่
          งานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดต่อในพื้นที่ เมื่อพบผู้สงสัยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ออกปฏิบัติงานสอบสวนโรค/ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายใน 48 ชั่วโมงที่ได้รับแจ้ง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสำรวจ/กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์  การสร้างเครือข่ายป้องกันโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน  วัดและชุมชน ร่วมเป็นคณะทำงานของศูนย์ปฏิบัติงานป้องกันโรคไข้เลือดออกเขตราษฎร์บูรณะ
           งานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การติดตามเฝ้าระวัง สถานการณ์โรคติดต่อในพื้นที่ การออกปฏิบัติงานสอบสวนโรค/ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายใน 48 ชั่วโมงที่ได้รับแจ้ง  ว่ามีผู้สงสัยป่วย/สัตว์ปีกป่วย ตาย ในพื้นที่ การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์  การสำรวจสัตว์ปีก ให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ผู้สัมผัส และประชาชนในการป้องกันโรค การสร้างเครือข่ายป้องกันโรคไข้หวัดนกในโรงเรียน วัดและชุมชน ร่วมเป็นคณะทำงาน ของศูนย์ปฏิบัติงานป้องกันโรคไข้หวัดนกเขตราษฎร์บูรณะ
             งานป้องกันควบคุมโรคอุจจาระร่วง กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การติดตามเฝ้าระวัง สถานการณ์โรคติดต่อในพื้นที่ การปฏิบัติงานสอบสวนโรค/ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายใน 48 ชั่วโมงที่ได้รับแจ้งว่าพบผู้สงสัยป่วยในพื้นที่  การออกหน่วยรณรงค์ ให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ การป้องกันควบคุมโรค
             งานป้องกันควบคุมโรคโรคเอดส์ กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างเครือข่ายป้องกันควบคุมโรคเอดส์ ในชุมชนและสถานประกอบการ การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ โดยการจัดประชุมสร้างการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมถึงแนวทางดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ  การติดตามเยี่ยมให้คำปรึกษาแนะนำ ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยในพื้นที่ ตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาในด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจให้ได้รับการดูแล และช่วยเหลืออย่างถูกต้องเหมาะสม
             โรคมือ เท้า ปาก  กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ดูแลเด็กในสถาน     รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่  การตรวจสุขภาพเด็ก  เมื่อพบผู้ที่สงสัยว่าป่วย ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) จะออกปฏิบัติงานสอบสวนโรค/ป้องกันควบคุมโรคภายใน 48 ชั่วโมงที่ได้รับแจ้ง การให้คำแนะนำ/ส่งต่อ ผู้ที่สงสัยว่าป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เพื่อให้ได้รับการรักษา/ดูแล ที่ถูกต้องเหมาะสม

6. งานเฝ้าระวัง สอบสวนโรคทางระบาดวิทยา
           กระบวนการที่สำคัญประกอบด้วย การวินิจฉัยการระบาดของโรค  การตั้งและทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการควบคุมและป้องกันโรค  ตลอดจนสรุปผลและร่างข้อแนะนำสำหรับการป้องกันการระบาดของโรคในอนาคตและการดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่การเก็บตัวอย่างการตรวจวินิจฉัยโรค  ตลอดจนดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค

7.  งานบริการสาธารณสุขที่สำคัญ
          บริการสาธารณสุขที่สำคัญ ได้แก่ การบริการหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่  การจัดกิจกรรมรณรงค์ การส่งเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรค โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ  สถานีตำรวจราษฎร์บูรณะ  อาสาสมัครสาธารณสุข  แกนนำชุมชน เป็นต้น

ดาวน์โหลดเอกสารเป็นไฟล์ PDF