สรุปประเด็นแถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.กทม.) ครั้งที่ 1/2565

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565
image

ประชุมร่วมรัฐ-เอกชน-กทม. นัดแรกคืบ
มุ่งดัน 3 เรื่อง ยกระดับเศรษฐกิจเมืองให้เห็นรูปธรรม

          (30 ก.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมประชุม ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

   ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกของการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้ง 3 องค์กรได้เสนอแนะ 9 เรื่อง ซึ่ง กทม. ยินดีรับไปดำเนินการ โดยจะขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานย่อยในแต่ละเรื่องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธ์อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจาก 3 เรื่องแรก ที่จะผลักดันก่อน คือ การท่องเที่ยว, Health Wellness รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ โดยอาจจะมีตัวที่จะช่วยดึง หรือสร้างแรงจูงใจ ทั้งนี้ กทม. อยากให้มีธุรกิจที่มีคุณภาพอยู่ในเมืองเพื่อที่จะได้สร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมทำให้เมืองมีคุณภาพดีขึ้น 

    ในส่วนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอเรื่องการปรับใบอนุญาตการก่อสร้างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการยื่นเอกสาร พร้อมทั้งพิจารณาขั้นตอน EIA ให้รวดเร็วกว่าเดิม และขอให้ทบทวนเรื่องราคากลางให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงในการจัดซื้อจัดจ้าง และยกระดับเรื่อง Street Food โดยสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และเพื่อสุขภาพที่ดี 

    ด้านสภาอุตสาหกรรม เสนอเรื่องการบริหารจัดการขยะ ซึ่งขณะนี้ได้มีการร่วมมือกับ กทม. แล้ว ในการรณรงค์เรื่องแยกขยะ รวมไปถึงโครงการพัฒนาคลองหัวลำโพงซึ่งได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับ กทม. แล้ว และยังมีการดำเนินการในเรื่องความปลอดภัยของร้านอาหาร มีการออกมาตรการร้านอาหารปลอดภัย แล้วมอบใบประกาศนียบัตรให้แก่ร้านค้าที่ผ่านมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ร้านอาหาร และตลาดต่าง ๆ 

    ส่วนทางสมาคมธนาคารไทย ได้พูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิด Digital Transformation ซึ่งเรื่องนี้ทางธนาคารต่าง ๆ ได้นำหน้าไปมากแล้ว โดยหาก กทม. สามารถนำมาต่อยอดได้ในเรื่องการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  และสามารถทำให้เข้าถึงสินเชื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น  รวมถึงด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งประชาชน ในชุมชนจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ซึ่งทาง กทม. นั้น มีข้อมูลด้านชุมชน โดยในเรื่องชุมชน และเรื่องที่อยู่อาศัย ถ้ามีการผนวกกับทางธนาคาร ก็จะมีข้อมูลเรื่องการเงินที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในระดับรากหญ้าได้มากขึ้น และสนับสนุนให้ กทม. เป็นจุดนำร่องในการเชื่อมโยงการจ่ายเงินระหว่างพื้นที่ต่างๆ ในระดับภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการจ่ายเงินผ่านระบบต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกแล้ว

 

กลุ่มงานนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง โทร. 1660