ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการคลัง มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อดูแลคนกรุงเทพฯ อย่างทั่วถึง

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566
image
   

 

ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการคลัง มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อดูแลคนกรุงเทพฯ อย่างทั่วถึง

“วันนี้ก็มาประชุมสัญจรของสำนักการคลัง ซึ่งเป็นสำนักที่สำคัญมาก ๆ ของกทม. เพราะว่าเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ สิ่งสำคัญที่สุดของหน่วยงานนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ เพราะในอนาคตต้องคิดว่าเราจะหารายได้เพิ่มจากไหน แล้วก็ต้องมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บมากขึ้นด้วย” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักการคลัง และผู้เกี่ยวข้อง ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรสำนักการคลัง (สนค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสำนัก ลำดับที่ 8 ของกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร วันนี้ (19 ม.ค. 66)

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการคลังมีสิ่งสำคัญ 3 ประการ โดยประการแรก คือ ส่วนที่ต้องจัดเก็บอยู่แล้ว เช่น ภาษีที่ดินและปลูกสร้าง ซึ่งส่วนนี้ก็ไปอยู่ที่สำนักงานเขตด้วย ต้องจัดเก็บให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำฐานข้อมูลให้ครบ และจัดเก็บอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งหลัก ๆ ของเราก็จะมี 2 ตัว คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับภาษีป้าย ต้องเร่งรัดในการดำเนินการจัดการ

ประการที่สอง คือ อาจจะต้องมีการคิดถึงเรื่องภาษีใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น ภาษีที่มาจากนักท่องเที่ยว หรือภาษีอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะมีรายได้ของเมืองเพิ่มขึ้น ได้ให้สำนักการคลังคิดหาทาง แต่ต้องไม่ให้เดือดร้อนประชาชน เราต้องการให้คนที่สามารถจะจ่ายได้และควรจะจ่าย หรือแม้กระทั่งคนที่อาจจะทำมลภาวะให้เมือง ซึ่งต้องดูว่าอนาคตจะมีการเก็บภาษีเหล่านี้เพิ่มได้หรือไม่ แต่สุดท้ายต้องไปแก้ที่ พ.ร.บ. ของกทม. เพื่อเพิ่มอำนาจตรงนี้ ซึ่งต้องเข้าสภาใหญ่ต่อไป

ประการที่สาม ซึ่งจะมีผลมาก คือ จำนวนประชากรที่แท้จริง ปัจจุบันเรามีจำนวนประชากรที่ลงทะเบียนอยู่กับเราประมาณ 5 ล้านกว่าคน แต่ก็มีประชากรแฝงที่อาจจะย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ ที่ถือว่าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาวิธีการที่จะให้คนเหล่านี้ย้ายทะเบียนอย่างถูกต้องมาอยู่ที่เรา เพื่อให้ตัวเงินที่เราจะได้จากภาษีต่าง ๆ สะท้อนถึงประชากรที่แท้จริง ให้งบประมาณสอดคล้องความเป็นจริงมากขึ้น

ส่วนในเรื่องที่จะต้องทำต่อ คือ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบ BMA TAX MAP (ระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร) ระบบ e-payment ต่าง ๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาวต่อไป นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องดูให้รอบคอบ คือ เรื่องเกี่ยวกับเงินที่ภาครัฐช่วยจัดเก็บให้ ซึ่งอาจจะถูกลดลงไป เช่น เงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการลดลง 15% ซึ่งภาครัฐอาจจะมีการจ่ายให้ภายหลัง เรื่องนี้คงต้องแจ้งทางรัฐบาลไปว่าท้องถิ่นจำเป็นต้องได้เงินส่วนนี้กลับคืนมาด้วย

สำหรับเรื่องอื่น เช่น ภาษีป้ายวงกลม ซึ่งที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกเป็นคนจัดเก็บให้ แต่บางทีมีคนที่ไม่ยอมจ่าย เราอาจจะต้องไปทวงถามตรงนี้เพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา ซึ่งจริง ๆ แล้วมี อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) หลายแห่ง ได้เข้าไปทำ MOU กับกรมการขนส่งทางบก แล้วก็ทำให้ได้เงินตรงนี้กลับคืนมา ก็คงต้องพยายามหาทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และเตรียมรายได้สำหรับรายจ่ายต่าง ๆ ที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อดูแลประชากรให้ทั่วถึงในอนาคต ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักการคลังก็ทำงานได้อย่างดี เก็บภาษีได้ตามเป้า ต่อไปก็จะพยายามขยายฐานและขยายการจัดเก็บให้มากขึ้น

● ตรุษจีนนี้ กทม.เน้นความปลอดภัย และความเป็นระเบียบในพื้นที่ รองรับนักท่องเที่ยวที่เยอะขึ้น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการช่วงตรุษจีน ว่า สำหรับตรุษจีนที่จะถึงนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวจะมาเยอะที่เยาวราช ซึ่งก็จะเป็นจุดที่มีความเสี่ยง เช่น จุดที่มีศาลเจ้า มีการจุด มีการเผาต่าง ๆ ก็จะมีหน่วยกู้ภัยหรือหน่วยดับเพลิงอยู่ในพื้นที่นั้น และมีอาสาสมัครเตรียมพร้อมไว้ รวมไปถึงจุดเสี่ยงในชุมชนต่าง ๆ ด้วย

ที่สำคัญคือเรื่องนักท่องเที่ยว หัวใจก็คือเยาวราช เมื่อวานผมก็ลงพื้นที่ไป ปัญหาเยาวราชมีเรื่องหลัก ๆ 3 ส่วน คือ ร้านค้าที่อาจจะตั้งเกะกะ รถแท็กซี่/สามล้อ ซึ่งเข้ามาจอดรอคนในพื้นที่ ทำให้กีดขวางทางเดิน และขยะ ซึ่งจะมีจำนวนมากเพราะนักท่องเที่ยวมามาก

กรุงเทพมหานคร ได้ให้เทศกิจบูรณาการความร่วมมือร่วมกับตำรวจ ในการประชาสัมพันธ์ตลอดเส้นทาง ซึ่งรถสาธารณะส่วนใหญ่จะกลัวตำรวจ ทางตำรวจก็จะเป็นตัวผลักดันให้เขาปฏิบัติตาม คือหลังจากส่งผู้โดยสารแล้วต้องเลื่อนออกไป และต้องมีจุดจอดคอยที่เลยจากเยาวราชออกไป แถววงเวียน 22 กรกฎาคม วัดไตรมิตรฯ ไม่อนุญาตให้จอดคอยด้านใน

ในส่วนของขยะ มีการเก็บขยะถี่ขึ้น เก็บทุกชั่วโมง นำรถเก็บขนขยะเล็กขนาด 2 ตัน มาเก็บขยะ มีถังขยะที่แยกขยะอยู่ประจำและมีเจ้าหน้าที่ พนักงานกวาด พนักงานรักษาความสะอาด ประจำตลอดคอยดูแลเรื่องความสะอาด รวมถึงจัดระเบียบร้านค้าไม่ให้ลงมาขวางทางเดินก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เมื่อวานคนเยอะแล้ว คนเดินค่อนข้างมาก แต่ถนนบางเส้นรถยังวิ่งได้ เช่น ถนนแปลงนาม จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน

ด้านการเดินทาง จะมีรถ Shuttle Bus (BMA Feeder) 4 คัน วิ่ง 4 วัน วันศุกร์ถึงวันจันทร์ (20 - 23 มกราคม 2566) เส้นทางเริ่มจากตั้งแต่ เยาวราช ไปคลองโอ่งอ่าง ถนนดินสอ ถนนข้าวสาร สามแพร่ง เสาชิงช้า MRT สามยอด แล้วมาเยาวราช อาจมีคนนั่งส่วนหนึ่ง แต่จะเพิ่มไปในพื้นที่อื่น แต่ทางเดินเท้าน่าจะเป็นเรื่องที่สะดวก นั่งรถไฟฟ้าไปลงวัดมังกร ลงสามยอด มิวเซียมสยาม สนามไชย ก็น่าจะเดินได้สะดวก

สำหรับการเผากระดาษเงินกระดาษทองช่วงเทศกาลตรุษจีนคงห้ามไม่ได้ และคงไม่ได้มีผลกระทบทั้งกรุงเทพฯ คงกระทบเป็นพื้นที่ไป เช่น บริเวณศาลเจ้า อันนี้ไม่ได้มีมาตรการอะไรแค่แนะนำว่าถ้าลดได้ก็ลด แต่ถ้าเป็นเรื่องความเชื่อประเพณีคงต้องระวังคนที่เข้าในพื้นที่ด้วย บางอย่างอาจมีทางเลือก เช่น การใช้ธูปสั้นลงก็อาจจะมีมลพิษน้อยลง ดูตามสถานการณ์วันนี้สภาพอากาศมันเปิดมีลมนิดนึงฝุ่นก็ไม่ได้เยอะมาก ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ร่วมมือกันหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในสถานที่ปิดล้อม ฝุ่นก็อาจส่งผลกระทบเยอะ ถ้าต้องเข้าในพื้นที่นั้นก็ต้องระวัง ส่วนการเฝ้าระวังอัคคีภัยได้มีการดูแลอย่างต่อเนื่องแต่คงต้องดูจุดเสี่ยงเป็นหลัก อาจจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำใกล้จุดเสี่ยงมากขึ้น เช่น บริเวณที่มีการจัดงาน ส่วนพื้นที่อื่นก็ดูแลเฝ้าระวังปกติตามมาตรฐาน

● จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ขอความร่วมมือคืนพื้นที่ให้คนเดินเท้า

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กรณีหาบเร่-แผงลอย เดินหน้าจัดระเบียบ แต่ไม่ง่ายเพราะมีคนที่เสียผลประโยชน์ ตอนนี้พยายามโฟกัสบริเวณสุขุมวิท นานา และจุดสำคัญ ๆ เพื่อให้คนเดินเท้าเดินได้ก่อน ตอนนี้ที่สีลมอาจมีความขัดแย้งกันบ้าง ต้องขอความร่วมมือกัน ได้สั่งการให้ทุกเขตเข้มงวดดูแลไม่ให้มีหาบเร่-แผงลอยเพิ่มขึ้น

● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทานข้าวเที่ยงกับ 5 ผู้แทนสำนักการคลัง พร้อมรับฟังปัญหาและส่งมอบกำลังใจ

สำหรับเมนูอาหารกลางวันในวันนี้ ประกอบด้วย ผัดไทยกุ้งสด ทองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น และผลไม้ตามฤดูกาล โดยมีผู้แทนจากสำนักการคลัง จำนวน 5 คน ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แก่ นายต้อย สวัสดิผล ตำแหน่งช่าง (ช่างเครื่องยนต์) ช 4 ฝ่ายซ่อมบำรุง กองโรงงานช่างกล นายนที ทางาม ตำแหน่งช่าง (ช่างโลหะ) ประเภทผู้ชำนาญงาน ช 4 ฝ่ายวิศวกรรม กองโรงงานช่างกล นายทรงพล บุญเพ็ชร์ ตำแหน่งช่าง (ช่างเครื่องยนต์) ช 3 ฝ่ายซ่อมบำรุง กองโรงงานช่างกล นายทวี แจ้งทำมา ตำแหน่งพนักงานสถานที่ บ 2 ฝ่ายการคลัง สำนักงานเลขานุการ และนายไพโรจน์ โพธิ์กมล ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ งานธุรการ กองบำเหน็จบำนาญ ซึ่งการรับประทานอาหารร่วมกับบุคลากรของกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อพบปะพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานเพื่อนำไปแก้ไข และให้กำลังใจในการทำงานแก่บุคลากร อีกทั้งเป็นการให้ความสำคัญกับบุคลากรของหน่วยงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยเริ่มการรับประทานอาหารร่วมกันครั้งแรกในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานเขตจตุจักร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2565