การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานพยาบาลของเอกชน

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
image
การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานพยาบาลของเอกชน

     การเบิกค่ารักษาพยาบาล กรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลเอกชน ผู้มีสิทธิ จะมีสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ก็ต่อเมื่อ ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ด้วยกรณีฉุกเฉินเท่านั้น โดยพิจารณาจากอาการแรกรับ ทั้งนี้ ไม่รวมการนัดมาตรวจรักษาพยาบาล และการนัดมาทำหัตถการ โดยผู้มีสิทธิจะมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ว่าพ้นภาวะวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสถานพยาบาลของทางราชการได้ ทั้งนี้ ไม่เกินเจ็ดสิบสองชั่วโมง นับแต่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชน ซึ่ง “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน มี 3 ระดับ คือ 
     1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
     2. ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน
     3. ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง
 

การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินวิกฤต

     กรณีที่ 1 ช่วงที่อยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต ทั้งนี้ไม่เกิน 72 ชม. ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลจะไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย แต่จะส่งเบิกค่ารักษาพยาบาลไปยังกรุงเทพมหานคร
     กรณีที่ 2 พ้นภาวะวิกฤตหรือครบ 72 ชม. ไม่ประสงค์ย้ายไปรักษาต่อในสถานพยาบาลของรัฐ ต้องการรักษาต่อที่สถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในช่วงหลังจากพ้นภาวะวิกฤติ
     กรณีที่ 3 หลังจาก 72 ชม.แรก แต่ยังไม่พ้นวิกฤต และไม่สามารถย้ายกลับไปยังสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการ ดังนี้
     1. นำหลักฐานการรับเงินและใบรับรองแพทย์ ยื่นขอทำความตกลงในการเบิกค่ารักษาพยาบาลเป็นกรณีพิเศษ เป็นรายกรณีไป กับสำนักการคลัง
     2. ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ดังนี้
         2.1 ค่าห้องและค่าอาหาร ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ (หนังสือกรมบัญชีกลางด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/พิเศษ ว 2 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2556)
         2.2 ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลของทางราชการ (หนังสือกรมบัญชีกลางด่วนที่สุด ที่ กค 0416/ว 484 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560)
         2.3 ค่ารักษาพยาบาลประเภทอื่น ๆ ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้จ่ายไปจริง
     กรณีที่ 4 หลังจาก 72 ชม. ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้รักษาว่า พ้นภาวะวิกฤต สามารถย้ายกลับไปยังสถานพยาบาลของทางราชการได้ แต่ไม่มีเตียงของสถานพยาบาลของทางราชการรับย้าย ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการ ดังนี้
     1. นำหลักฐานการรับเงินและใบรับรองที่สถานพยาบาลของเอกชนออกให้ผู้ป่วยยื่นขอเบิกค่ารักษาพยาบาล ณ หน่วยงานต้นสังกัด
     2. ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ดังนี้
         2.1 ค่าห้องและค่าอาหาร ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ (วันละ 1,000 บาท)
         2.2 ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ
         2.3 ค่ารักษาพยาบาลประเภทอื่น ๆ ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินแปดพันบาท
 

การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนและกรณีฉุกเฉินไม่รุนแรง

     กรณีผลการพิจารณาของระบบการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน (Emergency Preauthorize) หรือคำวินิจฉัยของ สพฉ. ระบุว่าผู้ป่วยไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต แต่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนหรือผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงให้ผู้มีสิทธิดำเนินการ ดังนี้
     1. นำหลักฐานการรับเงิน และใบประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้ระบุระดับความฉุกเฉิน ยื่นขอเบิกเงินที่หน่ายงานต้นสังกัด
     2. ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ดังนี้
         2.1 ค่าห้องและค่าอาหาร ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ (วันละ 1,000 บาท)
         2.2 ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ให้เบิกได้เช่นเดียวกับกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ
         2.3 ค่ารักษาพยาบาลประเภทอื่น ๆ ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทั้งหมด ที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินแปดพันบาท
 

เอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล

     1. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลออกให้
     2. ใบประเมินการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน จาก “ระบบสนับสนุนวินิจฉัยการคัดแยกความเจ็บป่วยฉุกเฉิน” โดยพิจารณาจากรหัส ESI เป็นสาคัญ (หากไม่ระบุระดับความฉุกเฉินให้แนบใบรับรองแพทย์ระบุความฉุกเฉินประกอบ)
     3. เอกสารประกอบความสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิเอกสารประกอบความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส แล้วแต่กรณี
 

เอกสารอ้างอิง

     1. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs)
     2. หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 112 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2554
     3. หนังสือสำนักการคลังที่ กท 1305/6172 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560
     4. หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0417/ว 177 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549
     5. หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/พิเศษ ว 2 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2556
     6. หนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 484 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560