ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา มีกระแสเรื่องกัญชาพอสมควร อันเนื่องมาจากการประกาศ พรบ.ยาเสพติดให้โทษฉบับ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ การแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ซึ่งต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ บวกกับกระแสที่พรรคภูมิใจไทยเสนอให้นโยบายผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยเป็นนโยบายหลักของพรรคที่ใช้ในแคมเปญการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ประชาชนนำประเด็นเรื่องกัญชามาถกเถียงในที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น 
โดยสรุปแล้ว ข้อมูลจากฝ่ายสนับสนุน ได้ให้เหตุผลสำคัญที่ควรผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ และปลดล็อคให้เสพอย่างถูกกฎหมาย เพราะ

1. กัญชามีคุณประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถใช้รักษาโรคหอบหืด โรคพาร์กินสัน รักษาอาการซึมเศร้า บำบัดโรคมะเร็ง โรคลมชัก ใช้รักษาอาการปวดตามร่างกาย และลดปวดจากโรคไขข้ออักเสบ ใช้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์

2. มีคุณประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ราคาของกัญชาที่ขายในท้องตลาดที่กิโลกรัมละ 70,000 บาท หากส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปลูกกัญชาแค่คนละไม่กี่ต้น จะทำให้เกษตรกรไทยร่ำรวยกันถ้วนหน้า

3. ใน พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 มีการอนุญาตให้หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (วิสาหกิจ ชุมชน/ วิสาหกิจเพื่อสังคม/ สหกรณ์การเกษตร) ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐหรือมหาวิทยาลัยเอกชน ทำการเพาะปลูกกัญชาได้ แต่ไม่มีประชาชนทั่วไป

4. กัญชาหางกระรอก หรือ กัญชาไทย ที่รู้จักในต่างประเทศในชื่อ Thai stick ถือเป็นสายพันธ์กัญชาที่ดีที่สุดสายพันธ์หนึ่งในโลก บวกกับอากาศในที่ราบสูงภาคอีสานของไทยเหมาะแก่การปลูกกัญชา ถ้าปลูกขายจะมีตลาดจากลูกค้าทั่วโลกอยู่แล้ว 

5. หากผลักดันให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายจะเพิ่มมูลค่าการตลาดของการท่องเที่ยวไทย จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวไทย 

6. หากพิจารณาจากพิษภัยด้านการเสพติดดูเหมือนกัญชาจะเป็นพืชเสพติดที่พิษภัยน้อย ไม่ทำให้คนเสพคลุ้มคลั่ง ไม่ทำให้เกิดมะเร็งเหมือนบุหรี่ 

ความจริงแล้ว ข้อสนับสนุนทางนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอมานั้นก็ถูกตั้งข้อสังเกตโดยนักวิชาการไทยพอสมควร โดย รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อทักท้วงว่า 

- ในต่างประเทศที่ให้ประชาชนปลูกกัญชาได้เองนั้นเงื่อนไขที่จะอนุญาตให้ปลูกต้องเป็นคนไข้ก่อน และไม่สามารถใช้ยารักษาโรคทั่วไปในท้องตลาดรักษาได้ 

- การปลูกกัญชาให้ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 70,000 บาทนั้นต้องเป็น Medical grade ซึ่งมีวิธีการปลูกที่ยากมาก ประชาชนทั่วไปทำได้ยาก ต้องควบคุมปัจจัยแวดล้อมเยอะ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่ดูดโลหะหนักในดินได้มาก หากปล่อยให้ปลูกทั่วไปจะพบโลหะหนักมากเกินค่ามาตรฐานที่ทางการแพทย์ไม่ยอมรับ ซึ่งจากการสำรวจกัญชาจากลาวก็พบปัญหานี้แล้ว

- การเคลมว่ากัญชาไทยดีที่สุดในโลกนั้นยังเป็นข้อความที่คลุมเครือ เนื่องจากกัญชาไทยที่ว่าดี เป็นกัญชาที่มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) สูง สารตัวนี้ทำให้เกิดอาการมึนเมาจึงเป็นที่นิยมของนักเสพ ส่วนคำว่าดีในทางการแพทย์ กัญชาประเภทนี้ต้องมีสาร CBD (Cannabidiol) มาก ซึ่งสายพันธ์ไทยไม่ได้มี CBD เยอะ 

- การให้ประชาชนปลูกกัญชาอย่างเสรีจริง ๆ มีไม่กี่ที่ในโลก แม้จะมีหลายประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชา แต่มีแค่ในรัฐบริทิชโคลัมเบียเท่านั้นที่ให้ประชาชนปลูกคนละไม่เกิน 6 ต้น ประเด็นปัญหาของการให้ปลูกอย่างเสรีคือ จะควบคุมการเสพกัญชาเพื่อความบันเทิงไม่ได้ หากปลูกกันอย่างเสรีแล้ว ไม่สามารถผลิตกัญชาให้อยู่ในคุณภาพที่ใช้ในทางการแพทย์กัญชาจะไปอยู่ในตลาดมืด หรือถูกเสพแทน ซึ่งกัญชาก็เป็นสารมึนเมาชนิดหนึ่ง หากควบคุมการเสพไม่ได้ จะมีปัญหาตามมาอีกมากแน่นอน
(อ่านเพิ่มเติม https://www.isranews.org/isranews-article/74090-weed00.html )
และ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่า การนำกัญชามาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สามารถจำแนกได้ 3 ประเด็น คือ

1. ได้ประโยชน์: ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด, โรคลมชักรักษายากในเด็ก & โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, อาการปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล

2. น่าจะได้ประโยชน์ (ควบคุมอาการ): โรคพาร์คินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรคปลอกประสาทอักเสบ, โรควิตกกังวลทั่วไป, ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง, ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

3. อาจจะได้ประโยชน์: การรักษามะเร็งต่าง ๆ โดยต้องศึกษาในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง ก่อนศึกษาในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงทั้งข้อสนับสนุน และ ข้อคัดค้าน เป็นการคาดเดาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ในเมื่อโลกใบนี้มีหลายประเทศที่เคยมีกฎหมายห้ามใช้กัญชา และ เปลี่ยนมาเป็นอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ ผมจึงคิดว่าการนำบทเรียนในช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมายจากประเทศเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้พอสมควร 

ข้อมูลที่ผมนำเสนอนี้เป็นการรวบรวมสถิติที่เกิดขึ้นใน 4 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ โคโลราโด, วอชิงตัน, ออริกอน และ อลาสก้า ซึ่งอนุญาตให้ใช้ในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา โดยกลุ่มนักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Harvard Medical School, University of Colorado at Denver, Yale University และอีกหลายมหาวิทยาลัย จากระยะเวลาเปลี่ยนผ่านกฎหมาย 7 ปี มีการรวบรวมสถิติที่สำคัญดังต่อไปนี้ 
(อ่านเพิ่มเติม https://learnaboutsam.org/wp-content/uploads/2018/07/SAM-Lessons-Learned-From-Marijuana-Legalization-Digital-1.pdf


#ผลกระทบต่อสังคมและเยาวชน 
หลังการอนุญาตให้ใช้ได้ใน 4 รัฐ แน่นอนว่าเยาวชนจำนวนมากเริ่มทดลองใช้ ทำให้จำนวนผู้ใช้กัญชาในรอบ 1 เดือน ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยเฉพาะในรัฐอลาสก้าและรัฐออริกอนที่ขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ หนึ่งของประเทศทันที รัฐโคโลราโดมีจำนวนผู้ใช้กัญชาในช่วงอายุเยาวชนเพิ่มขึ้น 65% จากปีก่อนหน้า และมีรายงานตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จที่ตรวจพบสารกัญชาในร่างกาย 

#การควบคุมการขายปลีก
แม้จะมีการอนุญาตให้ทำการขายแต่ทั้ง 4 รัฐก็ยังคงมีเงื่อนไข จำกัดการขายบางอย่างเช่น อายุผู้ซื้อ เวลาในการซื้อขาย และ ปริมาณ ในทางปฏิบัติพบว่ามีการละเมิดข้อกำหนด โดยเฉพาะการปล่อยขายให้เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ซึ่งพบมากกว่าครึ่งหนึ่งจาก424 กรณีที่ละเมิดเงื่อนไขทั้งหมด 

#สารเสพติดอื่นๆไม่ได้ลดลง 
แม้จะมีการคาดการณ์ว่าเมื่อปล่อยให้กัญชาใช้ได้ทั่วไปแล้ว จะทำให้ประชาชนลดการใช้สารเสพติดอื่น แต่ในความเป็นจริง สารเสพติดอื่นไม่ได้ลดลงไปด้วย ในรัฐออริกอนพบว่าเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 21 ปี ที่กลายเป็นนักดื่มแบบหนัก ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับผู้ใช้กัญชาที่เริ่มใช้ครั้งแรกหลังการเปลี่ยนกฎหมาย นอกจากนั้นในรัฐโคโลราโดพบว่าค่าเฉลี่ยการดื่มแอลกอฮอล์ของเมืองเพิ่มขึ้น 8% หลังการอนุญาต

นอกจากนั้นยังพบว่าการอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างเสรี จะทำให้มีผู้ใช้ยาเสพติดกลุ่มสารฝิ่นเพิ่มมากขึ้น โดยรูปแบบการใช้จะเหมือนกับการใช้ยาเสพติดในที่อื่น ๆ ของโลก โดยผู้ใช้จะเริ่มใช้จากยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทน้อยไปหามาก ดังนั้นเยาวชนที่เริ่มใช้กัญชายิ่งใช้มากเท่าไหร่ ก็คาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีผู้ใช้ยาเสพติดกลุ่มสารฝิ่นมากยิ่งขึ้น ในข้อมูลที่เก็บในรัฐโคโลราโด 5 ปีหลังการเปิดเสรีกัญชา พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติดกลุ่มสารฝิ่นกลับเพิ่มขึ้น

#ผู้ป่วยในโรงพยาบาลและห้องฉุกเฉิน
เมื่อกัญชาเสพกันง่าย ตัวเลขของผู้ป่วยที่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเพราะเสพกัญชาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในรัฐออริกอนก่อนหน้าจะอนุญาตให้ใช้มีคนไข้ถูกส่งมาห้องฉุกเฉินจากอาการเมากัญชาเฉลี่ยที่ 35 คนต่อเดือน แต่หลังจากอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็น 434 คน หรือเท่ากับ 2000% ที่รัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันมีการโทรศัพท์เข้ามาในศูนย์พิษวิทยาของรัฐเพื่อสอบถามข้อมูลของอาการพิษจากกัญชามากขึ้นถึง 210% และ 70% ตามลำดับ


#กัญชาในตลาดมืด 
เนื่องจากเงื่อนไขในการปลูก ซื้อ และ ขายกัญชา อย่างถูกกฎหมายค่อนข้างซับซ้อน จึงทำให้เกิดการลักลอบปลูก ซื้อ และ ขาย ความตั้งใจจะลดปัญหากัญชาผิดกฎหมายของรัฐสวนทางกับข้อเท็จจริงทางสถิติที่พบว่า ในรัฐโคโลราโดมีการลักลอบปลูกกัญชาเพิ่มขึ้น 50% มีการจับกุมกัญชาผิดกฎหมายมากขึ้น มีการส่งกัญชาออกไปขายต่างรัฐด้วยไปรษณีย์มากขึ้นทำให้มีการจับกุมการลอบขายกัญชาออนไลน์นี้มากขึ้นถึง 884% นอกจากนั้นมีการประเมินว่าปริมาณการซื้อขายกัญชาในตลาดทั้งหมดของรัฐออริกอนอยู่ในตลาดมืดเสีย 70% 

#อาชญากรรม
เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทั้ง 4 รัฐ ทั้งการโจรกรรม การใช้ความรุนแรง แม้ว่าการอนุญาตให้ใช้กัญชาจะไม่ใช่เหตุผลโดยตรงหรือเหตุผลหลักที่อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งตำรวจ นักกฎหมาย และนักวิชาการต่างกล่าวว่าการเปลี่ยนกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น 

#เมา(กัญชา)แล้วขับ
กรณีการเมากัญชาแล้วขับถือเป็นเรื่องไกลตัวของคนไทย เพราะเรามีปัญหาหลักคือเมาแอลกอฮอล์แล้วขับ เรามาลองดูกันว่าเมื่อมีคนเสพกัญชามากขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนจะเป็นอย่าง ในรัฐโคโลราโดพบว่า อุบัติเหตุจราจรที่รุนแรงที่เกิดจากคนเมากัญชาแล้วขับเพิ่มขึ้น 88% ผู้เสียชีวิตจากคนเมากัญชาแล้วขับเพิ่มขึ้น 66% ส่วนในรัฐวอชิงตันและรัฐออริกอนพบว่าอุบัติเหตุจากคนเมากัญชาแล้วขับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเช่นกัน

#สรุป
ในข้อสรุปที่นักวิชาการได้ให้ไว้คือ การพิจารณานโยบายนี้ควรทำอย่างรอบคอบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายแล้ว ย่อมเปลี่ยนพลวัตรทางเศรษฐกิจและสังคม หากกัญชาถูกกฎหมายจะมีกลุ่มทุน นักธุรกิจเข้ามาในตลาดกัญชานี้อย่างแน่นอน โดยเป้าหมายของกลุ่มทุนเหล่านี้คือต้องการให้มีผู้เสพมากที่สุด เพื่อกำไรสูงสุดของอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อปล่อยให้เกิดการผลิตมากขึ้นและเป็นสินค้าที่มีความต้องการเดิมในตลาดอยู่แล้วนั้น การทำลายกลไกลตลาดที่มีการทำงานแล้วจะเป็นเรื่องยาก (ดังที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในไทย) ผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมจะจูงใจให้อุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยากที่จะคัดค้านในภายหลัง ดังนั้นหากจะพิจารณานโยบายนี้ในประเทศไทย จึงควรพิจารณาอย่างรอบด้าน คาดการณ์ผลกระทบทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น ทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติครับ
 

สื่อให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด