กูเกิ้ลไอ/โอ 2018 เจาะนวัตกรรมต้องรู้

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
บทความโดย จันท์เกษม รุณภัย

จากหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับประจำ
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10037 หน้าที่ 17

 
 
 
     กูเกิ้ล มหาอำนาจผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกที่ทั่วโลกจับตามองใกล้ชิด เพราะหลายนวัตกรรมของค่ายนี้กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของประชากรโลกยุคสมาร์ตโฟนครองเมือง
 
     ปีนี้งานประชุม กูเกิ้ล ไอ/โอ 2018 (Google I/O 2018) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ฮือฮากว่าทุกปี โดยเฉพาะนวัตกรรมด้าน ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ไปจนถึง รถยนต์อัตโนมัติ ที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตในแวดวงไอที ทางเว็บไซต์ไอทีชื่อดัง เทคเรดาร์ จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

1.กูเกิ้ล ดูเพล็กซ์

     เริ่มที่ไฮไลต์ที่สุดของงานซึ่งทำเอาสื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ติดตามข่าวไอทีตื่นตะลึง ตาเบิกกว้าง อ้าปากค้างกันไปทั่วโลก นั่นคือ กูเกิ้ล ดูเพล็กซ์ (Google Duplex) ระบบเอไอที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นความสามารถใหม่ของ กูเกิ้ล อะซิสแตนต์ (Google Assistant) เอไอที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกขณะนี้ โดยฟีเจอร์ใหม่นี้จะทำให้เอไอฉลาดถึงขั้นโทรศัพท์พูดคุยแทนผู้ใช้ได้อย่างสมจริง!

     ฟังดูแล้วอาจไม่น่าเชื่อ ทางกูเกิ้ลจึงเปิดวิดีโอสาธิตที่อัดมาจากการทดสอบกูเกิ้ล ดูเพล็กซ์ ในสถานการณ์จริงให้ชมกันเป็นขวัญตา โดยการทดสอบแรกเป็นเจ้ากูเกิ้ล อะซิสแตนต์ โทรศัพท์ไปเพื่อนัดเวลาเสริมสวยที่ร้านซาลอนแห่งหนึ่งตามที่ผู้ใช้สั่งมันไว้ ซึ่งเสียงของเอไอนั้นมีน้ำเสียง อารมณ์ และการตอบโต้ไปมาได้อย่างแนบเนียนจนแยกไม่ออกว่าเป็นเอไอ

     เมื่อพนักงานที่ร้านรับสาย เอไอกล่าวทักทายและขอนัดเสริมสวยตามวันเวลาที่ผู้ใช้สั่งมันไว้ทันที ทำให้พนักงานถามกลับว่า "ต้องการบริการประเภทไหนดีคะ" เอไอจึงตอบว่า "เอาเป็นตัดผมคุณผู้หญิงค่ะ" จากนั้นพนักงานจึงขอให้รอสายเพื่อตรวจสอบตาราง "รอสักครู่นะคะ ดิฉันตรวจสอบให้ค่ะ" เจ้าเอไอก็แสดงอาการตอบรับว่า "อืม..ฮื้ม" ทำเอาผู้ชมวิดีโอสาธิตฮือฮา เพราะอารมณ์ของเอไอนั้นสมจริงอย่างมาก

     ต่อมาเมื่อพนักงานบอกว่า "ขอโทษนะคะ ถ้าเป็นวันที่...แทนจะสะดวกมั้ย พอดีคิวเต็มหมดเลย" ทางเอไอก็นัดเวลาใหม่และทำได้สำเร็จ แถมยังมีทำเสียงครุ่นคิดก่อนนัดเวลาใหม่อีก ตะหากว่า "เอิ่มมม...ถ้าเป็นวันที่แนะนำมาก็โอเคค่ะ ตามนั้น" หลายคนที่ชมวิดีโอดังกล่าวมีสีหน้าช็อกไปเลย ก่อนจะปรบมือโห่ร้องกันอย่างประทับใจแบบสุดๆ


     ยังไม่จบ...!! กูเกิ้ลแสดงวิดีโอสาธิตชุดถัดมาเป็นกูเกิ้ล อะซิสแตนต์ โทรศัพท์ไปนัดหมายจองโต๊ะที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งพนักงานคู่สายที่เป็นมนุษย์คนนี้มีสำเนียงที่ค่อนข้างฟังยาก แถมถามกลับไปกลับมาหลายครั้ง แต่ระบบกูเกิล ดูเพล็กซ์กลับรับมือกับพนักงานคนดังกล่าวได้อย่างแนบเนียนและเป็นธรรมชาติเสียยิ่งกว่ามนุษย์สนทนากันเองเสียอีก!
 

     
     สุนทร พิชัย ซีอีโอของกูเกิ้ล กล่าวว่า คณะทำงานใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีนี้มานานหลายปีแล้วเรียกว่า กูเกิ้ล ดูเพล็กซ์ โดยเอไอต่อไปจะสามารถโทรศัพท์ และสนทนาแทนมนุษย์ ได้ เช่นจากวิดีโอสาธิตจะเห็นว่าเอไอโทร.ไปจองวันที่ร้าน ทำผม และภัตตาคารล่วงหน้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ หากเสร็จสมบูรณ์เมื่อใดก็จะอัพเดตเข้ารวมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทันที

2.ประโยคอัตโนมัติ

     จีเมล์ (Gmail) หนึ่งในอีเมล์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก กำลังจะได้รับการอัพเดตระบบใหม่ที่อาศัยความสามารถของเอไอ ในการแนะนำประโยคอัตโนมัติให้กับผู้ใช้งานขณะพิมพ์อีเมล์ ระบบนี้เรียกว่า "สมาร์ต คอมโพส" (Smart Compose) หรือ ระบบร่างจดหมายอัจฉริยะ โดยระบบ ดังกล่าวจะอาศัยการเรียนรู้พฤติกรรมและลักษณะการใช้งานของผู้ใช้จากหลายๆ ด้าน ทำให้สามารถแนะนำประโยคที่คาดเดาว่าผู้ใช้จะพิมพ์ลงไปได้ ซึ่งสมาร์ตคอมโพสนั้นได้รับการคาดหวังว่าจะมีความแม่นยำสูงกว่าของค่ายอื่นๆ เนื่องจากกูเกิ้ลนั้นเป็นผู้นำด้านบิ๊ก ดาต้า ของโลกอยู่แล้ว 

3.กูเกิ้ลแม็ปส์ใหม่

     เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีโอกาสใช้แอพพลิเคชั่น กูเกิ้ล แม็ปส์-Google Maps เผลอๆ บางคนอาจใช้แอพฯ นี้ทุกวันเวลาเดินทางไปทำงานเพื่อหลีกหนีการจราจรติดขัด และหาตำแหน่งสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไป ปัญหาหนึ่งของกูเกิ้ล แม็ปส์ คือ เมื่อถึงจุดที่มีซอยจำนวนมาก หรือทางแยก ทางด่วน ทางขนาน ก็จะเริ่มสับสนและฟังเสียงอย่างเดียวไม่พอ-ไม่ทัน ทางกูเกิ้ลแก้ไขปัญหานี้ด้วยการนำความสามารถของกูเกิ้ล เลนส์ และเทคโนโลยีอักเมนต์ เรียลลิตี้ หรือเออาร์ มารวมไว้ในแอพฯ โดยต่อไปหากไม่แน่ใจว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไปทางไหน ผู้ใช้เพียงใช้กล้องของสมาร์ตโฟนส่องไป แผนที่ก็จะขึ้นมาด้วยพร้อมบอกทิศทางในแนวราบว่าต้องไปทางไหนต่อ


 


4.แอนดรอยด์พี-เวอร์ชั่นเบต้า

     โอเอสแอนดรอยด์ ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก และแม้หลายคนที่เพิ่งได้อัพเดต หรือยังกำลังรออัพแอนดรอยด์ 8.0 ล่าสุด ทางกูเกิ้ลขยายฐานผู้ร่วมทดสอบโอเอสแอนดรอยด์ 9.0 หรือรหัสว่า แอนดรอยด์ พี ไปยังค่ายสมาร์ตโฟนอื่นอีก ได้แก่ Google Pixel, Google Pixel XL, Google Pixel 2, Google Pixel 2 XL, Essential Phone, Nokia 7 Plus, Xperia XZ2, Xiaomi Mi Mix 2S, Vivo X21, Oppo R15 Pro และ OnePlus 6

5.กูเกิ้ลนิวส์ ข่าวออนไลน์รุ่นใหม่

     แอพฯ กูเกิ้ล นิวส์ ออกแบบใหม่จากที่ กูเกิ้ลต้องการให้แอพฯ นี้เป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับฟีดข่าวจากบรรดาสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือทั่วโลก และอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเลือกคัดเอาเฉพาะประเภทข่าว หรือสำนักข่าวที่ต้องการติดตามได้ โดยทางกูเกิ้ลจะใช้เอไอเป็นตัว คัดสรรความน่าเชื่อถือของข่าวและสำนักข่าว เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือสูง

     กูเกิ้ลนิวส์แบบใหม่นี้ทางกูเกิ้ลจะอัพเดต และเริ่มปล่อยให้ใช้งานได้จริงตั้งแต่สัปดาห์หน้า เป็นต้นไป

6. 4 ฟีเจอร์อัจฉริยะ

     แอนดรอยด์ พี มีฟีเจอร์ใหม่ 4 ด้าน ที่จะทำให้ฉลาดขึ้นกว่า แอนดรอยด์ โอรีโอ (8.0) เริ่มที่ อะแด็ปทีฟ แบตเตอรี่ (adaptive battery) ที่ช่วยลดการใช้พลังงานจากชิพประมวลผลลงได้ถึงร้อยละ 30 ต่อมาเป็น อะแด็ปทีฟ ไบรต์ เนสส์ (adaptive brightness) ที่จะเรียนรู้การปรับความสว่างหน้าจอตามพฤติกรรมความชื่นชอบของผู้ใช้ ตามด้วย แอพ แอ๊กชั่น (App actions) ซึ่งเอไอจะเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานแอพฯ และแนะนำแอพฯ ให้ผู้ใช้ หรือรันเตรียมไว้ให้เมื่อคาดว่าถึงเวลาที่ผู้ใช้งานอาจใช้

     สุดท้ายคือ แอพ สไลส์ (App slices) จุดนี้เป็นการเปิดช่องให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเลือกใส่แอพฯ ของตัวเองลงไปตามเมนูต่างๆ ของแอนดรอยด์พีได้ ทำให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่มากขึ้นเวลาลากเมนูต่างๆ ลงมาใช้งาน เช่น เมื่อผู้ใช้ค้นหาคำว่า "ฮาวาย" ผลที่ปรากฏอาจมีทั้งรูปภาพที่ผู้ใช้เคยไปมาก่อน และค่าที่พักตามโรงแรมต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะ ถูกจริตผู้ใช้

7.อินเตอร์เฟซ-ควบคุมใหม่

     ระบบการควบคุมสำหรับแอนดรอยด์พีจะได้รับการปรับปรุงใหม่ เพื่อให้การทำงานหลายอย่างในคราวเดียวทำได้ง่ายขึ้น (multi-tasking) ตามวิสัยทัศน์กูเกิ้ลที่ต้องการให้โอเอสแอนดรอยด์ใช้งานได้เป็นธรรมชาติและดูสะอาดตาไม่รกรุงรัง เช่น การสไลด์จากล่างขึ้นบนจะเป็นการ แสดงแอพฯ ที่กำลังทำงานอยู่ สไลด์แบบเดิมอีกครั้งจะเป็นการนำเมนูแอพฯ ทั้งหมดขึ้นมา หรือการสไลด์จากล่างขึ้นบนแบบยาวๆ ตั้งแต่ครั้งแรกจะดึงเมนูแอพฯ ทั้งหมดขึ้นมาในคราวเดียว เป็นต้น

     การปรับปรุงใหม่อีกแบบ คือเมนูปรับระดับเสียง ซึ่งที่ผ่านมานั้นพบปัญหาว่า "ละเอียดเกิน" ไม่ว่าจะเสียงริงโทน เสียงมีเดียความบันเทิง เสียงสนทนา และอื่นๆ ทำให้ผู้ใช้สับสนและหงุดหงิด โดยเฉพาะเมื่อปรับเสียงลงแล้ว แต่เมื่อเข้าห้องประชุมแอบเปิดไฟล์เพลงดังสนั่น เพราะไม่ได้ปรับเสียงมีเดียลง 

     ทางกูเกิ้ลจึงจับทุกอย่างมารวมกันเป็นระดับเสียงเดียว ซุกไว้ที่ฟากเดียวกับปุ่มปรับเสียง และอีกอย่างหนึ่งคือการให้ผู้ใช้สามารถปรับองศาการหมุนหน้าจอได้เองแล้ว โดยไม่ต้องตะแคง หรือเขย่าเครื่อง

8.ลดเวลาการใช้งานสมาร์ตโฟนของผู้ใช้

     วาทกรรมอย่าง "สังคมก้มหน้า" ที่มาจากปัญหาการติด สมาร์ตโฟนของผู้ใช้กำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก ทางกูเกิ้ลต้องการช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยแอนดรอยด์พีได้รับการออกแบบให้ช่วยลดระยะเวลาการใช้งานของผู้ใช้ลงด้วยการแสดงสถิติเวลาที่ผู้ใช้ใช้งานแอพฯ ต่างๆ พร้อมประเมินให้ด้วยว่าใช้มากไปหรือไม่ มากไปกว่านั้นเอไออาจตัดสินใจขีดเส้นตายไว้ให้ในแต่ละแอพฯ ด้วยว่าแต่ละแอพฯ ไม่ควรใช้เกินวันละกี่ชั่วโมง แต่ไม่ได้ห้ามใช้ เพียงแต่จะเตือนให้สลดไปแบบนี้ อีกฟีเจอร์หนึ่ง คือ ชูช์ (Shush) ที่จะทำหน้าที่เหมือน Do Not Disturb ปิดเสียงทุกชนิดยกเว้นสายฉุกเฉินเมื่อคว่ำจอสมาร์ตโฟนลง