สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้ทำการจัดสร้างสวนใหม่ให้มีเอกลักษณ์เป็น ‘ป่าต้นน้ำ’ เพื่อเน้นย้ำให้คนในเมืองกรุงเห็นความสำคัญของป่าไม้ที่ให้กำเนิดน้ำ โดยได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ชื่อสวนแห่งนี้ว่า สวนป่ารักน้ำ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559          
          สวนป่ารักน้ำมีพื้นที่ 9 ไร่ และถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์เป็น “ป่าต้นน้ำ” โดยเน้นพันธุ์ไม้ไทยให้มีความหลากหลาย ร่มรื่นในลักษณะของป่า จากยอดเนินดิน สองข้างทางของป่าทำเป็นหุบลงไป มีลำรางให้
สายน้ำทอดตัวลงไปสู่บึงน้ำด้านล่าง มีน้ำหมุนเวียนตลอดปี เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนกรุงเห็นความสำคัญของป่าไม้ที่ให้กำเนิดน้ำและปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิดงานเฉลิมพระเกียรติ “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 10 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และทรงกรุณาปลูกต้นยางนา และต้นพะยอม เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นสัญลักษณ์แก่ “สวนป่ารักน้ำ” เฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ด้วย

 

ต้นยางนา
Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

                   ต้นยางนาที่ทรงปลูกนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เพาะเมล็ดจากต้นยางนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกในแปลงทดลองป่าสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้นสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504
                   สืบเนื่องจากในช่วงฤดูร้อนแทบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน เมื่อครั้งเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรสองข้างทางมีต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก จึงมีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนาไว้เป็นสาธารณะ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะราษฎรเข้ามาทำไร่ทำสวน
                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงทดลองปลูกต้นยางนาด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก โดยทรงทดลองเพาะเมล็ดที่เก็บจากอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แล้วทรงนำมาปลูกในแปลงทดลองใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา จำนวน 1,250 ต้น เพื่อขยายพันธุ์ พันธุ์ยางนา อำเภอท่ายาง จึงยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
 

ต้นพะยอม
Shorea roxburghii G. Don วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

                   ต้นพะยอมที่ทรงปลูกนี้ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพาะเมล็ดจากต้นพะยอมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกที่หน้าพระธาตุศรีสุราษฎร์ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2502
                   เมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นครั้งแรก ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระธาตุศรีสุราษฎร์ โดยทรงปลูกต้นพะยอมทองพระองค์ละ 1 ต้น และทรงพระกรุณารับพระธาตุศรีสุราษฎร์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
พระธาตุศรีสุราษฎร์จึงมีคำเติมท้ายว่า “พระธาตุศรีสุราษฎร์ในพระบรมราชูปถัมภ์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ที่มา : มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ