ลานบัว

เป็นลานพักผ่อนหย่อนใจที่ตกแต่งด้วยบ่อน้ำรูปดอกบัวขนาดยักษ์ เป็นที่รวมพันธุ์บัวทั้งไทยและต่างประเทศ มีกระถางโบราณเก่าแก่ประดับลานและปลูกบัวชนิดต่าง ๆ และสวนยุโรป ซึ่งอวดลานแบบสวนประดิษฐ์ ด้วยแปลงไทรทองตัดแต่งลายบัวก้านขดอันวิจิตร สร้างเส้นนำสายตาเข้าสู่ลานบัว เกิดภาพเอกลักษณ์สง่างามเป็นหนึ่งเดียวไปด้วย โดยมีสายพันธุ์บัว 132  ชนิด

           บัว แบ่งออกเป็น 3 สกุล ได้แก่

 1. สกุลปทุมชาติ (Nelumbo) - Lotus   
               คนไทยรู้จักกันในชื่อบัวหลวง บางครั้งคนโบราณเรียกว่า บัวก้านแข็ง ซึ่งชูใบและดอกเหนือผิวน้ำ ก้านมีตุ่มหนาม มีทั้งดอกซ้อน ดอกลา มีกลิ่นหอม พันธุ์ที่พบในทวีปเอเชียและออสเตรเลีย มีสีขาวและสีชมพู ส่วนพันธุ์ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือมีสีเหลือง แต่ไม่ออกดอกในประเทศไทย ดอกบัวหลวงจะบานตั้งแต่เช้าตรู่ และหุบตอนบ่ายหรือค่ำ
               บัวหลวงพันธุ์ดั้งเดิมของไทยแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ คือ
                   - ปทุม / บัวแหลมแดง
                   - ปุณฑริก (บุณฑริกา) / บัวแหลมขาว
                   - สัตตบงกช / บัวฉัตรแดง
                   - สัตตบุษย์ / บัวฉัตรขาว
 
ปทุม / บัวแหลมแดง
ปุณฑริก (บุณฑริกา) / บัวแหลมขาว
สัตตบงกช / บัวฉัตรแดง
สัตตบุษย์ / บัวฉัตรขาว


2. สกุลอุบลชาติ (Nymphaea) - Waterlily
บัวไทยในสกุลนี้ ได้แก่ บัวผัน บัวเผื่อน บัวขาบ บัวจงกลนี บัวสาย บางครั้งคนโบราณเรียกว่า บัวก้านอ่อน เพราะก้านอ่อนเกลี้ยง ไม่มีหนาม จำแนกตามถิ่นกำเนิดได้ 2 ประเภท ดังนี้
     - อุบลชาติเขตอบอุ่น - หนาว หรือ บัวฝรั่ง พบในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ในเขตอากาศอบอุ่นไปจนถึงหนาวเย็น ดอกลอยแตะผิวน้ำหรือชูพ้นน้ำเล็กน้อย บานตอนรุ่งเช้า เริ่มหุบตั้งแต่เที่ยงวันถึงช่วงบ่ายต้นๆ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
     - อุบลชาติเขตร้อน พบในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ดอกชูสูงเหนือผิวน้ำ อุบลชาติเขตร้อนยังจำแนกตามช่วงเวลาที่ดอกเริ่มบาน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
          - อุบลชาติเขตร้อนบานกลางวัน ดอกเริ่มบานตอนสายๆ หุบช่วงบ่ายคล้อย ได้แก่
                   - บัวเผื่อน มีดอกขนาดเล็ก สีขาวอมฟ้าอ่อนๆ ขนาดไม่เกิน 8 เซนติเมตร สีอ่อน มีกลิ่นหอม
                   - บัวผัน ลักษณะเดียวกับบัวเผื่อน มีสีฟ้าอ่อน แต่มีดอกใหญ่กว่า มีกลิ่นหอม
                   - บัวขาบ เป็นบัวไทยดั้งเดิมที่ปัจจุบันหาดูยาก มีดอกสีฟ้าหรือสีม่วง โทนสีจางจนถึงเข้ม
                   - บัวจงกลนี คาดว่าเป็นบัวพันธุ์ไทยแท้และเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย (endemic plants) ซึ่งมีหลักฐานบันทึกไว้ใน “ไตรภูมิพระร่วง” สมัยสุโขทัย
                   - บัวนางกวัก สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้าจากประเทศอินเดียประมาณ 20 ปีมาแล้ว จุดเด่นคือ มีกลีบเลี้ยงยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดูคล้ายนิ้วมือ จึงเป็นที่มาของชื่อนางกวัก
                   - บัวยักษ์ออสเตรเลีย เป็นบัวขนาดใหญ่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
                   - บัวสุทธาสิโนบล อยู่ในกลุ่มอุบลชาติเขตร้อนบานกลางวันมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ศ.กสิน สุวตะพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืช ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงนำพันธุ์จากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2444
           - อุบลชาติเขตร้อนบานกลางคืน ดอกเริ่มบานตอนใกล้ค่ำและหุบช่วงสายๆ ของวันรุ่งขึ้น นิยมเรียกว่า บัวสาย บัวกลุ่มนี้ ไม่มีกลิ่นหอมหรือมีกลิ่นเพียงจางๆ บัวสายพันธุ์ที่มีชื่อเรียกมาตั้งแต่ดั้งเดิมของไทย ได้แก่
                   - กมุท/ เศวตอุบล คือ บัวสายสีขาว
                   - สัตตบรรณ คือ บัวสายสีแดง
                   - ลินจง คือ บัวสายสีชมพู
   

3. สกุลวิกตอเรีย (Victoria)- Royal Waterlily, Victoria
                   คนไทยนิยมเรียกว่า บัวกระด้ง เพราะมีใบขนาดใหญ่ ขอบใบยกขึ้นคล้ายกระด้ง ก้านมีหนามแหลม ดอกบานช่วงกลางคืน หุบตอนเช้า บานนานประมาณ 3 วัน เมื่อเริ่มบานเป็นสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูจนถึงม่วงแดง กลิ่นหอมแรงมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชื่อสกุลตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เนื่องจากมีผู้นำเมล็ดพันธุ์จากลุ่มน้ำอะเมซอนกลับไปปลูกที่ประเทศอังกฤษจนผลิดอกเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว
                   สำหรับประเทศไทย พระยาประดิพัทธ์ภูบาลได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์บัวชนิดนี้ 2 ครั้ง ซึ่งสามารถขยายพันธุ์สำเร็จในครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2444 และนิยมปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายต่อมา
 

บัวกระด้ง

 

บัวเฉลิมพระเกียรติ

               บัวหลวงพระราชินี
                   สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรำลึกถึงบัวหลวงปทุมพันธุ์หนึ่งที่เคยขึ้นอยู่บริเวณสวนสนประดิพัทธ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความโดดเด่นที่ต้นสูง และมีดอกสีชมพูใหญ่เป็นพิเศษ
                   จังหวัดทหารบกเพชรบุรีได้เสาะหาตามพระราชปรารภและพบว่ายังมีอยู่ที่สระบัววัดหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำไปปลูกอนุรักษ์พันธุ์ไว้ในพื้นที่ “อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน” ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ชมรมผู้รักบัวแห่งประเทศไทยได้เรียกชื่อบัวหลวงสายพันธุ์นี้ว่า “บัวหลวงพระราชินี” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ
               ศรีกิติยา
                   บัวสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในแหล่งรวบรวมสายพันธุ์บัว ปางอุบล ของ   ดร. เสริมลาภ วสุวัต มีจุดเด่นที่ดอกสีชมพูถึงแดงเข้ม และมีกลีบดอกซ้อนมากกว่าบัวสายทั่วไป ได้รับการเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ในฐานะ “ดอกบัวเฉลิมพระเกียรติ 77 พรรษา มหาราชินี”
                   สำหรับชื่อ “ศรีกิติยา” เป็นชื่อที่ประชาชนร่วมลงคะแนนคัดเลือกจากรายชื่อ 4 ชื่อ        ที่คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ กรุณาตั้งให้ เมื่อได้ชื่อแล้วจึงนำต้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
               บัวควีนสิริกิติ์
                   บัวลูกผสมข้ามสกุลย่อย ผลิตโดยนายไพรัตน์ ทรงพานิชพัฒนาคัดเลือก พ.ศ.2551-2554  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อพันธุ์บัวชนิดใหม่ของโลกว่า “ควีนสิริกิติ์” ประกาศเมื่อ 30 มิ.ย. 2555
บัวหลวงพระราชินี
ศรีกิติยา
ควีนสิริกิติ์


ที่มา : หนังสือสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ , มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ