ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในรูปการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อยก ระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมมหานครใหญ่ในภูมิภาค จึงเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 และ 29 มกราคม 2534 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้จัดสร้างสวนสาธารณะบนพื้นที่ “สนามกอล์ฟรถไฟ” ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ส่วนแรก  140 ไร่ ให้สร้างเป็นสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ส่วนที่เหลือ 375 ไร่ กรุงเทพมหานครรับมอบที่ดินจากกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 และจ่ายค่าชดเชยให้การรถไฟฯ จำนวน 555 ล้านบาท และเริ่มเข้าปรับปรุงพื้นที่สนามกอล์ฟเดิมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 เดิมสวนสาธารณะแห่งนี้ประชาชนรู้จักในนามสวนรถไฟ กรุงเทพมหานครได้ขอพระราชทานนามสวนแห่งนี้จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สวนวชิรเบญจทัศ” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545

สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกสร้างในแนวคิด “สวนครอบครัว” ที่ตระเตรียมกิจกรรมหลากหลายไว้ดึงดูดความสนใจของสมาชิกทุกวัยในครอบครัวแทรกอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่โล่งกว้าง และเขียวขจี สดชื่น สบายตา ให้ความรู้สึกอิสระ มีเนินหญ้าสลับกับพื้นราบกว้างมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับสวนสาธารณะครบครัน และเป็น “สวนสาธารณะในฝันของนักปั่นจักรยาน” ด้วยเส้นทางจักรยานระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ลัดเลาะดงไม้ ไต่เนินไปรอบนอกสวน หรือจะเลือกเดินชมธรรมชาติ วิ่งออกกำลังก็ทำได้ในเส้นทางใหญ่ภายในบริเวณสวน นอกจากนี้ในช่วงปี 2560 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ได้มีนโยบายปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร บริเวณลานรวงผึ้ง   ในพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ จำนวน 110 ต้น
สถานที่สำคัญ
1) เส้นทางจักรยาน สวนวชิรเบญจทัศได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปในปีในปี 2542 ซึ่งกำหนดให้เป็นสวนครอบครัว และได้มีการบำรุงเส้นทางจักรยานในปี 2543 เป็นการนันทนาการของครอบครัว และมีการจัดสร้างเส้นทางจักรยานแยกจากทางเดิน - วิ่งของประชาชน ซึ่งเดิมเป็นเส้นทางบริการของสนามกอล์ฟรถไฟเดิมที่สร้างขึ้น ต่อมาสภาพของสะพานที่เป็นส่วนหนึ่งของทางจักรยานชำรุดทรุดตัว กลุ่มผู้ขับขี่จักรยาน ปะปนกันไป ประมาณ 4 - 5 ปี ที่ผ่านมามีผู้ออกกำลังกายขับขี่จักรยานมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ความเร็วพอสมควร อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้บริการเดิน - วิ่ง เป็นบางครั้ง ต่อมาในปี 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีดำริให้ปรับปรุงเส้นทางจักรยาน ทางคนเดิน - วิ่ง ให้แยกออกจากเส้นทางของผู้ขับขี่จักรยาน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณ 2559 เป็นเงิน 21 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงเส้นทางจักรยานโดยรอบสวนวชิรเบญจทัศระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร

 
2) อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวนวชิรเบญจทัศ เป็นอาคารรูปโดมขนาด 1 ไร่ ภายในแสดงนิทรรศการ ห้องวีดีทัศน์ให้ความรู้ และกรงผีเสื้อแบบ walk in ที่จัดภูมิทัศน์ได้งดงามด้วยน้ำตก ธารน้ำ และมวลไม้ดอก นำเสนอโอกาสชื่นชมผีเสื้อสีสันสวยงามนับพันตัวในสภาพที่อยู่จริง มิใช่ในกล่องสะสมแมลงอีกต่อไป อีกทั้งยังจัดอบรมความรู้ด้านการดูนกในสวน ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อ และแมลงแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://office.bangkok.go.th/publicpark/bug/index.asp
3) ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ให้บริการด้านสถานที่ และอุปกรณ์กีฬาแก่สมาชิก มีสระว่ายน้ำ สนามบาสเกตบอล สนามฟุตซอล ลานเปตอง ฟิตเนส ฯลฯ
4) ศูนย์เยาวชนวชิรเบญจทัศ ให้บริการด้านกิจกรรมนันทนาการรูปแบบต่างๆ มีสระว่ายน้ำ     สำหรับเด็กที่ตกแต่งด้วยน้ำพุล่อใจสร้างความเพลิดเพลิน ติดตั้งจุดพ่นละอองน้ำเป็นระยะสร้างไอเย็นดับร้อน เรียกความสนใจจากเด็กได้ดี
5) บ้านหนังสือของสำนักงานเขตจตุจักร ให้บริการในด้านหนังสือต่างๆ แก่เด็ก และประชาชนทั่วไป
6) เมืองจราจรจำลอง เป็นสถานที่แห่งการสร้างจิตรสำนึกในการเคารพกฎจราจรให้แก่เด็ก และเยาวชน
7) หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ตั้งอยู่ที่ สวนวชิรเบญจทัศ เยื้อง ๆ กับปั๊มน้ำมันปตท. จัดสร้างถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบพระบรมราชาภิเษกครบ 60 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานอนุญาตให้จัดสร้าง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นอาคารปูน 3 ชั้น อยู่ริมสระน้ำ และสวนกิจกรรมลานธรรมะ สำหรับรองรับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ และเข้าใจธรรม โดยสามารถเข้าไปดูกิจกรรมต่างๆ ที่ www.bia.or.th
8) ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ อาคารมีม่านน้ำปลิวโปรยสวยงาม ลานรอบนอกเป็นพื้นที่สันทนาการ นั่งเล่น พักผ่อน หรือปั่นจักรยาน ครอบครัว และเด็กๆ      ได้เดินเล่น วิ่งเล่น สนุกสนาน และปลอดภัย พรรณไม้สวยงามประดับจับวางอย่างสวยงาม เป็นระบบ และมีประโยชน์ใช้สอย ลานโค้งด้านหน้าทอดขนานไปกับบึงน้ำคั่นกลางระหว่างพื้นที่ของอาคารกับสวนรถไฟ
9) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ “ความสุขปลูกได้”