รอบรู้อาเซียน
ประเทศไทยจะเริ่มหน้าที่เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2562 ตลอดทั้งปี
ในการรับเป็นประธานอาเซียนนั้น ประเทศไทยได้ประกาศแนวคิดหลัก (theme) ในการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายที่โยงถึงยุทธศาสตร์ของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบ่งบอกถึงทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่สำคัญ คือ ความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต ซึ่งหมายถึงการที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัต สู่อนาคตที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียน
แนวคิดหลักข้างต้นมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่ไทยจะเน้นย้ำและผลักดันเพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้แก่
(1) ‘การก้าวไกล’ (Advancing) หมายถึง การมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด (disruptive technologies) และความท้าทายต่างๆ ในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การมีดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN)
(2) ‘การร่วมมือ ร่วมใจ’ (Partnership) คือ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประชาคมโลก รวมทั้งกับประเทศคู่เจรจา โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN)
(3) ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) หมายถึงการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน (sustainable security) หรือความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่ยั่งยืน และความยั่งยืนด้านความมั่นคงของมนุษย์ หรือ Sustainability of Things (SoT)
ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของอาเซียน จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และทุกกำหนดการประชุมได้ จากเว็บไซต์ www.asean2019.go.th และสื่อโซเชียลต่าง ๆ เพื่อจะรับทราบความคืบหน้าของงานและการประชุมในสถานที่ต่าง ๆ อีกทั้งในการประชุมใหญ่ ๆ หลายครั้ง ที่จะจัดขึ้นนั้น ก็จะมีผู้นำประเทศ หรือผู้แทนระดับสูง เดินทางมาเยือนบ้านเมืองของเรา และเข้าร่วมการประชุมด้วย
อาจจะทำให้ต้องมีการจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือนเหล่านั้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรของพี่น้องประชาชนในเส้นทางผ่าน และพื้นที่การประชุมบ้าง ซึ่งการประชุมประเทศอื่น ๆ เขาก็ทำเหมือนกันให้เกียรติซึ่งกันและกัน รัฐบาลก็พยายามจะดำเนินการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และขอให้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการเตรียมต้อนรับอาคันตุกะของเรา เช่นเดียวกับที่ประเทศเจ้าภาพอาเซียนที่ผ่าน ๆ มา ก็ได้ให้เกียรติ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำ – ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่การประชุมต่าง ๆ จะกระจายตัวออกไปในหลายจังหวัด ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้น พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ย่อมมีส่วนร่วมในการเป็น เจ้าภาพที่ดี ให้การต้อนรับผู้นำประเทศ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกระดับ
ถือว่าเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ ด้วยการช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา ให้ความช่วยเหลือ และมอบมิตรไมตรี เพื่อจะสร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่มาเยือน และอยากกลับมาที่บ้านเราอีก เมื่อกลับไปที่บ้านเมืองของเขาแล้ว จะได้นำไปเล่าต่อให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว หรือนักลงทุนบ้านเขา ให้อยากมาสัมผัสเมืองไทยของเราอีก
ข้อมูล www.thaigov.go.th