ระบบคัดกรอง COVID-19 ของกรุงเทพมหานคร (BKK COVID-19) ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564
image

กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด 19 ในผลงานระบบคัดกรอง COVID-19 ของกรุงเทพมหานคร (BKK COVID-19) ซึ่งพัฒนาระบบโดย กองบริการระบบคอมพิวเตอร์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร

--------------------------

วันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม) เป็นผู้แทนกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในพิธี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

--------------------------

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกแรกในประเทศไทย ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าตนเองได้รับเชื้อแล้วหรือยัง และจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือไม่ ด้วยเหตุนี้กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำ Web Application ที่ชื่อว่า BKK Covid-19 เพื่อเป็นการยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งเป็นการสร้างบริการใหม่ และทำให้เกิดมิติใหม่ของการให้บริการ โดยระบบคัดกรอง COVID-19 ของกรุงเทพมหานคร (BKK COVID-19) มีจุดเด่นและมีความแตกต่างจากระบบแบบเดิม ๆ คือ เป็นระบบการคัดกรองฯ ที่ให้บริการทางการแพทย์แบบครบวงจร ตั้งแต่ประชาชนเข้ามาทดสอบแบบประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านทาง http://bkkcovid19.bangkok.go.th เพื่อคัดกรองด้วยตนเอง โดยระบบจะทำการประเมินความเสี่ยงและแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่พบประวัติ (สีเขียว), กลุ่มเฝ้าระวัง (สีเหลือง), กลุ่มเสี่ยง (สีส้ม), และกลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) หากประชาชนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (สีส้ม) และกลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) จะต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม เพื่อที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะได้ทำการติดต่อกลับไป เพื่อประเมินคัดกรองเพิ่มเติม หากประชาชนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เจ้าหน้าที่จะนัดเพื่อทำการ SWAB เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการกักตัวระหว่างรอผลการตรวจ หากผลการตรวจออกมาเป็นบวก กรุงเทพมหานครจะจัดส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่บ้านเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป