ปีใหม่ มีอะไรใหม่? รู้จัก 9 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2021

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564
image

เรียบเรียงโดย พัชรี ตั้งเจริญพานิชย์

นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ

กองบริการระบบคอมพิวเตอร์

…………………………..

 

ปีใหม่ มีอะไรใหม่? รู้จัก 9 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2021 ที่ต้องตามให้ทัน! 

ปี ค.ศ. 2020 น่าจะเป็นปีแห่งความเซอร์ไพรส์ของเราทุกคนตั้งแต่ต้นจนปลายปี จากสถานการณ์ COVID-19  ที่ยังส่งผลต่อเนื่องถึงวิถีชีวิตในระยะยาว รวมถึงกระทบธุรกิจในหลาย ๆ วงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการเทคโนโลยี 

          บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Gartner ยังต้องนำเอาสถานการณ์การแพร่ระบาด มาเป็นปัจจัยในการรวบรวม วิเคราะห์ และคาดการณ์ถึงความก้าวหน้าและการเกิดใหม่ของเทคโนโลยีต่างๆ ในปีถัดไป และนี่คือ ‘Top Strategic Technology Trends for 2021’ เทรนด์ด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่ Gartner คาดการณ์ไว้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

 

 

 

กลุ่มที่ 1 People Centricity : เทคโนโลยีที่คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา

1.Internet of Behavior (IoB) :  ส่วนขยายของ IoT เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเข้ากับพฤติกรรมของมนุษย์ จะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลของผู้คนมากขึ้น ทั้งในเชิงธุรกิจและภาครัฐ เช่น การจดจำใบหน้าหรือการติดตามพิกัด และ Big Data เป็นต้น เพื่อนำไปติดตามและสืบหาข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มโอกาสในธุรกิจด้านการตลาดเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกซื้อของลูกค้า ทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้คนได้มากขึ้น และอาจนำมาใช้ต่อยอดในด้านอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งเรื่องของการพัฒนาการให้บริการลูกค้า หรือการควบคุมการเกิดโรคระบาด 

ข้อดีของ IoB นำไปใช้ติดตามการแพร่ระบาด และป้องกันไวรัสโควิด-19 เช่น ตรวจจับอุณหภูมิและระบุผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยได้  พัฒนาแอปพลิเคชันสุขภาพบนสมาร์ทโฟน ติดตามการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ และน้ำตาลในเลือด การรับประทานยา หรือการลดน้ำหนัก ใช้ในเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ใช้ในการติดตามตำแหน่ง และติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การใช้จ่ายด้วยเงินสดหรือช่องทางอื่น ๆ เป็นต้น 

ข้อควรระวัง เมื่อ IoB สร้างความสะดวกสบายให้มนุษย์ IoB จะทำให้อาชญากรไซเบอร์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายขึ้น เกิดการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวง่ายขึ้นในธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่น Google, Facebook หรือ Amazon แชร์ข้อมูลลูกค้าด้วย Software เดียวกัน


2. Privacy-Enhancing Computation   การใช้เทคโนโลยีเพื่อประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย โดยประกอบไปด้วยเทคโนโลยี 3 ด้าน คือ 1) การทำระบบและสภาพแวดล้อมที่สามารถประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างปลอดภัย 2) การทำให้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจายไปหลายที่ได้ และ 3) การเข้ารหัสข้อมูลและอัลกอริทึมก่อนที่จะนำไปประมวลผลและวิเคราะห์ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปประมวลผลข้ามองค์กรได้ด้วยความปลอดภัย เมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น สิ่งที่จะพัฒนาตามมาคือการพัฒนาระบบและสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีเพื่อจะประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสามารถส่งต่อข้อมูลเหล่านั้น เพื่อประมวลผลข้ามองค์กรด้วยได้ ภายในปี ค.ศ. 2025 เกินครึ่งของบริษัทขนาดใหญ่จะต้องเพิ่มความสามารถนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่อง privacy และ security ของผู้บริโภคให้ได้

3. Total Experience :  การออกแบบประสบการณ์ในยุคต่อไป จะไม่ได้มุ่งเน้นแค่ผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นหลัก หากแต่ต้องรวมเอาประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากผู้ให้และผู้รับบริการ เพื่อทั้งผลลัพธ์และการดำเนินงานที่ดีขึ้น เพราะในยุค social distancing การออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ให้บริการก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้  เพราะในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบให้บางธุรกิจที่ขาดรายได้ ช่องทางการขายถูกปิด ไม่สามารถติดต่อกับลูกค้าได้เหมือนปกติ เลยมีความจำเป็นให้ธุรกิจเหล่านั้นต้องทำการหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามา “สร้างประสบการณ์” ที่ทำให้ทั้งลูกค้าและพนักงานไม่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ห่างไกลกันเกินไป ตัวอย่างเช่น Conversational Platform อย่าง ChatBot หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Virtual  Customer Assistant (ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ) ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีของระบบให้มีการโต้ตอบกับลูกค้า ได้อย่างเสมือนจริงมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยี Touchless Interface ต่าง ๆ ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจแนว

บริการ สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้าได้ เช่น ธุรกิจร้านเสื้อผ้า ร้านอาหาร ต่างก็หันมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

 

กลุ่มที่ 2 Location Independence : เทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานหรือการเข้าสังคมที่ไม่ยึดติดกับสถานที่

4.Cybersecurity mesh   สถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed architecture) ที่จะสามารถควบคุมความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจ ยืดหยุ่น และขยายตัวได้ ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรด้านไอทีจำนวนมากอยู่นอกรัศมีการควบคุมความปลอดภัยที่มักจะกำหนดไว้ภายในองค์กร Cybersecurity mesh จะเป็นการอนุญาตให้ผู้ใช้กำหนดรัศมีการควบคุมความปลอดภัยโดยพิจารณาจากการระบุตัวตน หรือตำแหน่งของผู้ใช้ จึงทำให้สามารถใช้ระบบความปลอดภัยในรูปแบบโมดูลาร์และตอบสนองได้ โดยมีนโยบายจากส่วนกลาง  ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ทรัพยากรด้านไอทีจำนวนมากถูกกำหนดไว้ให้ใช้เฉพาะภายในองค์กร แต่ด้วยข้อจำกัดที่เปลี่ยนไป จึงเกิดแนวคิดในการสร้างระบบที่อนุญาตให้ผู้ใช้กำหนดพื้นที่หรือระบุตัวตนเพื่อใช้ทรัพยากรได้ แม้ไม่ได้นั่งทำงานอยู่ในองค์กร ซึ่งเราก็พอเห็นแล้วว่า Cloud สามารถผลักดันแนวคิดนี้บ้างแล้ว

Cybersecurity Mesh ประกอบไปด้วยการออกแบบและการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางด้าน IT security ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้าง “perimeter” รอบ ๆ อุปกรณ์หรือโหนดทั้งหมดของ IT network เพียงอย่างเดียว แต่จะสร้าง
 

ขอบเขตที่เล็กลง โดยเฉพาะรอบ ๆ อุปกรณ์หรือ access point แต่ละจุดแทน ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะสร้าง security architecture แบบแยกส่วนและตอบสนองเราได้มากขึ้น และ Cybersecurity Mesh นี้เองที่จะครอบคลุมถึง access points ที่แตกต่างกันของเครือข่ายได้อีกด้วย

5. Anywhere Operation : รูปแบบของธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้และพนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องมีแนวคิดที่มองดิจิทัลต้องมาก่อนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Digital first, location independent) โดยมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีและแอปพลิเคชันแบบกระจาย ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและแอพพลิเคชัน จะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจหลาย ๆ ธุรกิจที่อาจไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้ และพนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้

6. Distributed Cloud : การที่ผู้ให้บริการ public cloud กระจายการติดตั้งระบบ cloud ไว้ในหลาย ๆ แห่ง โดยที่บริหารจัดการบริการและการควบคุมต่าง ๆ ยังเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ public cloud จึงทำให้องค์กรต่าง ๆ ได้ Cloud services ที่ทันสมัย และมีระบบที่ตั้งอยู่ตำแหน่งใกล้กับหน่วยงานเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการส่งข้อมูล และตอบโจทย์ขององค์กรที่ต้องการให้ข้อมูลไม่ย้ายออกไปอยู่ในตำแหน่งไกล ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ทั้งนี้ มีการกล่าวว่า Distributed cloud คืออนาคตของ Cloud นั่นเอง หรือกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ       ผู้ให้บริการ Cloud จะขยายขอบเขตของการใช้งานกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งกระจายการติดตั้งระบบไว้ในหลาย ๆ แห่ง เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ Cloud Services ในการส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น


 

กลุ่มที่ 3 Resilient Delivery : เทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

7.Intelligent Composable Business : องค์กรต่าง ๆ จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีขึ้นและสามารถที่จะเสริมข้อมูลเหล่านั้นให้เห็นในเชิงลึกได้ ตลอดจนสามารถประกอบข้อมูลในแต่ละส่วนย่อยหรือแอปพลิเคชันได้ เพื่อที่จะพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้รับกับการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น ธนาคารอาจต้องสามารถพยากรณ์แนวโน้มและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อสร้างบริการใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันจากระบบเดิมที่มีอยู่จากการจัดเรียงระบบขึ้นมาใหม่แทนที่จะต้องพัฒนาระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจจะพึ่งพาข้อมูล และโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างอัตโนมัติมากขึ้นในอนาคต องค์กรจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถหยิบใช้ข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เชิงลึกแบบอัตโนมัติได้ 

8.AI Engineering  :  การแก้ปัญหาโครงการด้าน AI ที่มักจะพบในแง่ของการบำรุงรักษา การขยายระบบ และด้านธรรมาภิบาล โดย องค์กรจะต้องทำ

ให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการทำงานต่าง ๆ แทนที่จะมองเป็นโปรเจ็กต์ด้าน AI โดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยต้องคำนึงในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส จริยธรรม สามารถอธิบายได้ และเป็นไปตามกฎปฏิบัติต่าง ๆ

9.Hyperautomation : แนวคิดที่ต้องทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ทั้งทางด้านธุรกิจและไอทีเป็นระบบอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้เทคโนโลยี Intelligent automation ที่หลากหลายแต่สามารถนำมาเชื่อมต่อและประกอบกันได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง Machine Learning และ Automation Tool หลาย ๆ ตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งเราเริ่มเห็นแนวโน้มมาระยะหนึ่ง

 

แล้ว เพียงแต่สถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่นั้นเป็นการยกระดับให้องค์กรเปลี่ยน

ทุกอย่างเป็น Digital First อย่างรวดเร็ว ทำให้เราน่าจะได้เห็นระบบอัตโนมัติ

มากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

แนวโน้มเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ของปี ค.ศ. 2021 เท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางสำคัญที่ปูทางให้องค์กรต่าง ๆ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกยาว ๆ ต่อไปได้ด้วย

 

ที่มา

https://thematter.co/quick-bite/gartners-tech-trend-2021/131422

https://zeoconzultant.wordpress.com/2020/12/19/iob-internet-of-behavior-2021/

https://www.aware.co.th/iot-คืออะไร/

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651405

https://prospace.services/what-cybersecurity-mesh/

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651405