คลองบางกอกน้อยพระไชยราชาธิราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น


          แม่น้ำเจ้าพระยาดั้งเดิม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระอธิบายว่า ลำน้ำเจ้าพระยาเดิมตั้งแต่ปากน้ำเจ้าพระยาเดิมขึ้นมาตามแม่น้ำทุกวันนี้ จนถึงคลองบางกอกใหญ่ (หรือที่เรียกกันว่า คลองบางหลวง) ในระหว่าวัดอรุณฯ กับวัดกัลยาณ์ฯ ที่วัดกัลยาณ์เองเป็นแม่น้ำ ตลิ่งอยู่ที่กะฎีจีน คือศาลเจ้าเจ๊กอยู่ติดข้างใต้วัดกัลป์ยาณ์เดี๋ยวนี้ ลำแม่น้ำเดิมเข้าทางบางกอกใหญ่ไปเลี้ยวบางระมาด ตลิ่งชัน วกมาออกบางกอกน้อย ขึ้นทางสามเสน (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ภาคต้น 2505 หน้า 487)
ประเด็นเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายดั้งเดิมของกรุงเทพฯมีข้อความอธิบายอีกอย่างหนึ่งซึ่งบางทีอาจจะช่วยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยาโบรณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร)อธิบายว่า “ตำบลบางกอก” อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใกล้อ่าวไทยเป็นบริเวณที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า(OXBOW LAKE) กล่าวคือเมื่อแม่น้ำไหลมาจากทิศเหนือผ่านเขตจังหวัดนนทบุรี มาถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ก็ไหลวกไปทางทิศตะวันตกกลายเป็นคลองบางกอกน้อย ก็ไหลวกไปทางทิศตะวันตก กลายเป็นคลองบางกอกน้อย พอถึงบางระมาดกฌไหลวกลงใต้ กลายเป็นคลองบางระมาดมาถึงวัดนวลนรดิศแล้ววกมาทางตะวันออกเป็นคลองบางกอกใหญ่ เมื่อมาถึงวัดอรุณราชวรารามก็วกไหลเรื่อยลงไปทางทิศใต้จนออกทะเลที่ปากแม่น้ำ


การที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้านั่นเอง เป็นเหตุให้สองฟากแม่น้ำคดโค้งนี้กลายเป็นที่ดอนขึ้นมา อันเป็นผลสบเนื่องมาจากแม่น้ำนำตะกอนจากที่ต่าง ๆ ทางเหนือมาทับถมทุกปีในฤดูน้ำหลาก จึงเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนย่านบางกอกน้อยนี้มีความเจริญและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของประเทศได้ ก็เพราะมีลำน้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อทั้งภายในภายนอกได้สะดวก
ในบรรดาบ้านเมืองสำคัญ ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 ด้วยกันแล้ว จะเห็นว่าพระนครศรีอยุธยาอันเป็นราชธานีของไทยในช่วงบพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมานั้น จำเป็นต้องอาศัยลำแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการเดินลงเรือจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจะเข้าไปยังพระนครศรีอยุธยาจึงต้องผ่านชุมชนที่เป็นบ้านเมืองขึ้นไปเป็นระยะ ๆ
เมื่อเดินทางเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาแล้ว ก็จะถึงชุมชนย่านบางกอก เป็นแหล่งพักสินค้าได้ดีที่สุด เพราะเส้นทางน้ำที่จะเดินทางต่อไปไม่สะดวกเนื่องจากลักษณะคดและโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมดังกล่าวมาแล้วจะต้องเสียเวลาอีกมากนัก เพราะฉะนั้นจึงต้องจอดพักกันที่ย่านบางกอกกันก่อน ในที่สุดย่านบางกอกก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น และชุมชนก็ยิ่งขยายใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย
ความสนใจที่พระนครศรีอยุธยามีต่อ บางกอก นั้น มีหลักฐานปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตรงกันเกือบทุกฉบับว่า....
“ศักราช 884 ปีมะโรง จัตวาศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านั้น ก็ได้ขุดคลองบางกอกใหญ่ตำบลหนึ่ง” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ 2515 หน้า 580)
ข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีเพียงเท่านี้เอง ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะมีสาระสำคัญใด ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้มีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในยุคดังกล่าวมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีความสำคัญต่อฐานะความก้าวหน้าของตำบลบ้านย่านบางกอก
เพราะนี่คือหลักฐานที่ระบุว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกใหญ่ตรงส่วนที่แคบที่สุด ที่ทุกวันนี้เรียก ปากคลองบางกอกน้อยไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ และปัจจุบันกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน้าสถานีรถไฟในบางกอกน้อย ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม
ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายดั้งเดิม ที่ผ่านย่านบางกอกก็แคบลง กลายเป็นคลองดังที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า “คลองบางกอกน้อย” และ “คลองบางกอกใหญ่”


แม้พระราชพงศาวดารจะระบุปีที่ขุดคลองลัดนี้ว่า “ศักราช 884 ปีมะโรง จัตวาศก” ซึ่งเทียบได้ตรงกับ พ.ศ.2065 แต่จะเอาแน่นอนนักก็ไม่ได้ เพราะโอกาสคลาดเคลื่อนย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ส่วนที่แน่ ๆ คือ การขุดนี้เกิดขึ้นแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ทรงครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2077-2089 (และเป็นกษัตริย์ที่มีสนมเอกนามว่า เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ นั่นเอง)
สาเหตุที่สมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกใหญ่ขึ้นนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายต่อไปว่า ในสมัยนั้นการติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน และ โปรตุเกส มีความสม่ำเสมอมากขึ้น ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจึงให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกในเรื่องการคมนาคมเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงโปรดให้ขุดคลองลัดทีย่านบางกอก เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย แล้วผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราชไปจนถึงคลองบางกอกใหญ่ ข้างวัดอรุณราชวราราม เมื่อกระแสน้ำมีร่องให้พุ่งตรง ซึ่งจะไหลคล่องกว่าการเลี้ยวลดคดโค้งไปตามเส้นทางเดิม กระแสน้ำจึงมีกำลังแรง สามารถทำให้คลองลัดขยายกว้างขึ้นด้วยการทำลายสองฟากตลิ่ง จนกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาแทนสายเก่า ส่วนลำแม่น้ำเดิมก็แคบเข้าจนเหลือเป็นคลอง ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
กล่าวกันว่า การขุดคลองลัดที่ย่านบางกอกนั้น ช่วยย่นระยะทางคมนาคมมากทีเดียว เพราะแทนที่จะเสียเวลาพายเรือทั้งวันเพื่ออ้อมไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ก็จะเหลือเพียงชั่วไม่ทันตั้งหม้อข้าวเดือด
ผลที่ตามมาอย่างรวดเร็วก็คือ ย่านดังกล่าวกลายเป็นเกาะ และ ขยายชุมชนใหญ่ขึ้นเป็นบ้านเรือนและเรือกสวนมากมาย ในที่สุดก็กลายเป็น “เมือง” อยู่บริเวณสองฟากฝั่งคลองลัดที่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
จากบทความนี้ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงห่วงใยในอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ทรงสดับตรับรับฟังทุกข์สุข ทรงฟังปัญหา ทรงแก้ปัญหาให้ประชาราษฎรของพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถอันกว้างไกล เพื่อความผาสุกของประชาชน
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงขุดคลองเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการคมนาคม จนเกิด “คลองบางกอกน้อย”
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาการจราจรให้กับพสกนิกรของพระองค์หลายโครงการด้วยกัน และโครงการขยายถนนบรมราชชนนีในเขตบางกอกน้อย ก็เป็นโครงการตามพระราชดำริโครงการหนึ่งที่ทรงแนะนำเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เขตบางกอกน้อย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรของพระองค์อย่างล้นพ้น