(22 พ.ค. 66) สำนักการโยธา จัดประชุมหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อปรับแผนการติดตั้งสายไฟฟ้า โดยนำงานสายไฟฟ้าแรงต่ำมาดำเนินการก่อนในปี 2566 - 2567 ระยะทางประมาณ 26.20 กิโลเมตร (กผภ.+สกบ.)

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

     (22 พ.ค. 66)  สำนักการโยธา จัดประชุมหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อปรับแผนการติดตั้งสายไฟฟ้า โดยนำงานสายไฟฟ้าแรงต่ำมาดำเนินการก่อนในปี 2566 - 2567 ระยะทางประมาณ 26.20 กิโลเมตร ทั้งนี้  การปรับปรุงทางเท้าคืนตามโครงการฯ สนย. กำหนดให้ใช้ตามแบบมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 

     โดย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการปรับปรุงทางเท้า และเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำสายสื่อสารลงดินไปพร้อมกันในปี 2566 จำนวน 8 สาย ได้แก่  ถนนหลังสวน (เพลินจิต - สารสิน) ถนนสารสิน (ราชดำริ - วิทยุ) ถนนวิทยุ (พระรามที่ 4 - เพลินจิต) ถนนพระรามที่ 4 (หัวลำโพง - แยกคลองเตย) ถนนพระรามที่ 4 (แยกคลองเตย - สุขุมวิท) ถนนรัชดา (พระรามที่ 4 - สุขุมวิท) ถนนรัชดา (สุขุมวิท - เพชรบุรี) ถนนอังรีดูนังต์ (พระรามที่ 1 - พระรามที่ 4) ระยะทางรวม 35.20 กิโลเมตร  ซึ่งนอกจากจะช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ดีให้กับ กทม. แล้ว ยังเป็นการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชนอีกด้วย 

     ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) มีนโยบายสายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน สะท้อนต้นทุน ไม่กระทบประชาชน โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินที่ไม่ซ้ำซ้อนกับระบบเดิม และให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนสายเก่าและสายที่ไม่ได้ใช้งานที่แขวนอยู่บนเสาไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงามให้กับเมือง

 

อัลบั้มภาพ