งานทะเบียนทั่วไป
 
ทะเบียนชื่อบุคคล
 
1. การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัว ชื่อรอง ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมาย ให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี หรือราชทินนามของบุคคลอื่น ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคายต้องไม่มีเจตนาทุจริต ต้องมีความหมายในทางภาษาไทย แต่ไม่ฝืนใจต่อการตั้งชื่อขัดกับศาสนาผู้ที่จะขอเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรองต้องบรรลุนิติภาวะ ถ้าเป็นผู้เยาว์ต้องให้บิดาหรือมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองเป็นผู้ยื่นคำขอแทน ณ ฝ่ายทะเบียนสำนักทะเบียนท้องที่ที่บุคคลนั้นๆ มีชื่อปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
หลักฐานที่ต้องใช้
1.     บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง
2.     ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้ขอเปลี่ยน
3.     กรณีดำเนินการแทนผู้เยาว์ ใช้สูติบัตรผู้เยาว์ ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีชื่อผู้เยาว์ บัตรประจำตัวประชาชนผู้ขอดำเนินการแทน
·       ค่าธรรมเนียม 50 บาท ยกเว้นการตั้งชื่อรองเป็นครั้งแรกไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
 
2. การขอตั้งชื่อสกุล
          บุคคลที่จะขอตั้งชื่อสกุลต้องบรรลุนิติภาวะ ถ้าเป็นผู้เยาว์ต้องให้มารดาหรือบิดาหรือผู้มีอำนาจปกครองเป็นผู้ยื่นคำขอแทน ณ ฝ่ายทะเบียน สำนักทะเบียนท้องที่ที่บุคคลนั้นๆ มีชื่อปรากฏอยู่ในขณะนั้นชื่อสกุลที่จะขอตั้งใหม่ ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนามเว้นแต่ราชทินนามของตนหรือบุพการี หรือของผู้สืบสันดาน ต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย ต้องมีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ แล้วเขียนตัวสะกดให้ถูกต้อง ห้ามผู้ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุลใช้คำว่า ณ นำหน้าตัวหรือต่อท้ายชื่อสกุลของตน และไม่ให้ใช้ศัพท์ที่เป็นพระบรมนามาภิไธย มาเป็นชื่อสกุล ห้ามนำชื่อพระมหานครซึ่งเคยเป็นราชธานีมาแล้วแต่ก่อนหรือปัจจุบันเป็นชื่อสกุล เช่น กรุงเทพ บางกอก สุโขทัย อู่ทอง ห้ามนำสรรพนามที่เป็นราชทินนามของพระมหากษัตริย์มาตั้ง มาประกอบกับคำศัพท์อื่นตั้งเป็นชื่อสกุล เช่น จักรี นฤบาล เทพ อธิป
 
          หลักฐาน
1.     บัตรประจำตัวประชาชนผู้ขอตั้งชื่อสกุล
2.     ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้ขอตั้งชื่อสกุล
3.     กรณีดำเนินการแทนผู้เยาว์ ใช้สูติบัตรผู้เยาว์ ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีชื่อผู้เยาว์ บัตรประจำตัวประชาชนผู้ขอดำเนินการแทน
 
3. การขอร่วมใช้ชื่อสกุล
          ซึ่งมีชื่ออยู่ในสำนักทะเบียนเดียวกันให้เจ้าของชื่อสกุลและผู้ขอร่วมใช้ชื่อสกุลยื่นคำขอที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่
 
          หลักฐานที่ต้องใช้
1.     บัตรประจำตัวประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย
2.     สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของทั้ง 2 ฝ่าย
3.     หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล
4.     ค่าธรรมเนียม 100 บาท
กรณีเจ้าของชื่อสกุลกับผู้ขอร่วมใช้ชื่อสกุล มีชื่ออยู่ต่างสำนักงานทะเบียนกัน ให้เจ้าของชื่อสกุลยื่นคำขออนุญาตให้ผู้อื่นร่วมใช้ชื่อสกุลต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน พร้อมแสดงหลักฐานคือ บัตรประจำตัวประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร่วมใช้ชื่อสกุล และนำหลักฐานใบอนุญาตใช้ชื่อสกุลร่วมให้ผู้ขอร่วมให้ผู้ขอร่วมใช้ชื่อสกุลไปออกไปสำคัญ ณ สำนักงานทะเบียนที่ตนมีชื่ออยู่
 
 
ทะเบียนครอบครัว
 
1. การจดทะเบียนสมรส
1.1            ชาย – หญิง ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของกฎหมาย ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสให้เป็นสามีภริยากันโดยชอบกฎหมาย สามารถดำเนินการ ณ ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้
1.2            การจดทะเบียนสมรสของคนสัญชาติไทยกับสัญชาติอื่น ต้องมีหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสและรับรองหนังสือเดินทางจากสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุล แปลเป็นภาษาไทยและรับรองโดยกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตหรือสถานกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเสียก่อน
1.3            การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ผู้ร้องต้องจัดยานพาหนะรับ-ส่ง หรือจ่ายค่าพาหนะที่จ่ายจริง และเสียค่าธรรมเนียมคู่ละ 200 บาท
 
หลักฐาน
1.       บัตรประจำตัวประชาชนทั้งสองฝ่าย
2.       สำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส (กรณีมีบุตรต้องนำสูติบัตรบุตรมาด้วย)
3.       พยานบุคคล 2 คน
4.       ถ้าคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาตนเองด้วย หากไม่ถึง 17 ปี ไม่สามารถจดทะเบียนได้ยกเว้นมีคำสั่งศาล
5.       ใบสำคัญการหย่า กรณีคู่สมรสเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อน หรือมรณบัตรคู่สมรสเดิมเสียชีวิต
6.       กรณีฝ่ายหญิงมีความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับคู่สมรสคนใหม่ต้องหย่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน หากไม่ถึงต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์แต่ถ้าจดทะเบียนสมรสใหม่กับคู่สมรสคนเดิมสามารถจดได้เลย
 
2. การจดทะเบียนหย่า
         คู่หย่าต้องทำหนังสือสัญญาหย่าโดยมีข้อตกลงในเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน หนี้สิน การใช้อำนาจปกครองบุตร การจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรและอื่นๆ โดยสามารถดำเนินการ ณ ฝ่ายทะเบียน สำนักทะเบียนใดก็ได้
         หลักฐาน
1.     บัตรประจำตัวประชาชน
2.     สำเนาทะเบียนบ้านของคู่หย่า
3.     ใบสำคัญการสมรสทั้ง 2 ฉบับ หากสูญหายต้องแจ้งความที่ สน. และนำใบแจ้งความมาแนบ
4.     กรณีมีบุตรให้นำสูติบัตรหรือทะเบียนบ้านบุตรมาด้วย (ถ้ามี)
5.     พยานบุคคล 2 คน
6.     หลักฐานคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล (ไม่เสียค่าธรรมเนียม)
7.     กรณีเคยเปลี่ยนชื่อตัว/ชื่อสกุล ต้องนำหลักฐานมาด้วย
 
3.  การจดทะเบียนรับรองบุตร
         การจดทะเบียนรับรองบุตร บุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากจะให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา บิดาต้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรโดยมารดาและบุตรให้ความยินยอม ณ ฝ่ายทะเบียน สำนักทะเบียนแห่งใดก็ได้ถ้าบุตรไม่สามารถให้ความยินยอมได้ หรือบุตรยังไม่รู้เดียงสาให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว
         หลักฐาน
1.     บัตรประจำตัวประชานชนชองผู้ร้อง
2.     สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าบ้านผู้ร้อง
3.     สูติบัตรบุตร
4.     กรณีเคยเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุลต้องนำหลักฐานมาด้วย
5.     สำเนาคำพิพากษาของศาลพร้อมหนังสือได้รับรองคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจดทะเบียนรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล
6.     การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท
7.     พยานบุคคล 2 คน
 
4. จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
         บุตรบุญธรรม คือบุตรที่ขอมาเลี้ยงดู เสมือนเป็นบุตรของตนและได้จดทะเบียนตามกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.     ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
2.     ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
3.     ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอยู่แล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
4.     พระภิกษุจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้
5.     กรณีบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่ครบ 20 ปี) ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องยื่นเรื่องราว ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของสำนักงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก่อน
6.     บุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้ขอรับบุตรบุญธรรมสามารถยื่นเรื่องราว ณ ฝ่ายทะเบียน สำนักทะเบียนแห่งใดก็ได้
หลักฐานที่ต้องใช้
1.     บัตรประจำตัวประชาชนบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมและคู่สมรสน
2.     ผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมถ้ายังไม่มีบัตรให้แสดงสูติบัตรและ/หรือสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านแทน
3.     กรณีทั้งสองฝ่ายมีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย
4.     หนังสืออนุมัติให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจากศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์
5.     พยานบุคคล 2 คน
6.     สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้รับบุตรบุญธรรมและของผู้เป็นบุตรบุญธรรม
7.     ใบสำคัญการสมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม (ถ้ามีคู่สมรส) หากผู้เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุลต้องแสดงเอกสารด้วย
 
5. การบันทึกฐานะแห่งครอบครัว
         เป็นการบันทึกข้อความอันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว ซึ่งคู่กรณีเป็นคนสัญชาติไทย อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสัญชาติอื่น โดยกิจการนั้นได้กระทำไว้ในต่างประเทศตามแบบแห่งกฎหมายต่างประเทศนั้น เช่น การจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า สามารถร้องขอให้นายทะเบียนบันทึกข้อความนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย ณ ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้
 
         หลักฐานที่ต้องใช้
1.     บัตรประจำตัวผู้เกี่ยวข้อง
2.     ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านผู้เกี่ยวข้อง
3.     เอกสารหลักฐานในเรื่องที่ต้องการให้บันทึก ซึ่งเป็นต้นฉบับพร้อมกับคำแปลภาษาไทย รับรองการแปลจากกระทรวงต่างประเทศ หรือสถานทูตของประเทศที่ออกเอกสารให้
4.     พยานบุคคล 2 คน
         ข้อควรทราบ : การบันทึกฐานะแห่งครอบครัวไม่มีใบสำคัญออกให้ หากผู้มีส่วนได้เสียต้องการหลักฐานบันทึกฐานะแห่งครอบครัวต้องเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท
 
6. การขอใช้คำนำหน้านาม “นาง” หรือ “นางสาว” ของสตรี
         เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคำนำหน้านามสตรี พ.ศ.2551 สามารถยื่นคำร้อง ณ ฝ่ายทะเบียน หรืออำเภอ เพื่อให้ออกหนังสือรับรองการขอใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแก้ไขรายการคำนำหน้านามในทะเบียนราษฎรที่ตนมีชื่ออยู่
         หลักฐานที่ต้องใช้
1.     บัตรประจำตัวประชาชน
2.     สำเนาทะเบียนบ้าน
3.     ใบสำคัญการสมรส หย่า หรือบันทึกฐานะแห่งครอบครัว (แล้วแต่กรณี)
 
7. การใช้ชื่อสกุลของคู่สมรส หรือกรณีสมรสสิ้นสุดลง
         คู่สมรส สามารถที่จะใช้ชื่อสกุลเดิมของตนเองหรือชื่อสกุลของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ในขณะสมรส โดยคู่สมรสจะต้องทำข้อตกลงเรื่องการใช้ชื่อสกุลเสียก่อน
         หลักฐานที่ต้องการ
1.     บัตรประจำตัวผู้ยื่นคำขอ
2.     สำเนาทะเบียนบ้าน
3.     บันทึกข้อตกลงเรื่องราวการใช้ชื่อสกุล
4.     กรณีการสมรสสิ้นสุดต้องมีหลักฐานมาแสดง