ประวัติความเป็นมาสำนักงานเขตทุ่งครุ (**ปรับปรุงเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566**)

  เขตทุ่งครุ เป็นเขตจัดตั้งใหม่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เนื่องจากสภาพพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการคมนาคมอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากร และสาธารณูปโภคเข้าไปในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการปกครองและการให้บริการภาครัฐเกิดความสะดวกแก่ประชาชน กรุงเทพมหานครจึงแบ่งแขวงบางมดและแขวงทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ ให้เป็นเขตการปกครองตั้งใหม่ โดยใช้ชื่อตามพื้นที่ว่า “เขตทุ่งครุ” โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
 


ความหมายของ “ทุ่งครุ”

คำว่า “ทุ่ง” หมายถึง ที่ราบโล่ง 

คำว่า “ครุ” หมายถึง ภาชนะสานชนิดหนึ่งใช้ตักน้ำรูปกลม ๆ ยาชัน 

          เมื่อนำความหมายของทั้งสองคำรวมกัน น่าจะหมายถึง พื้นที่ราบโล่ง ใช้สานภาชนะตักน้ำรูปกลม ๆ ยาชัน จากความหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในอดีตท้องที่เขตทุ่งครุ เป็นที่ราบโล่ง ลุ่ม มีแหล่งน้ำหลายแห่งเหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน และมีฝีมือทางการจักสาน

 

 

ความหมายของตราสัญลักษณ์ 
          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จประทับบนหลังม้า ทรงพระแสงดาบ อยู่เหนืออักษรย่อของสำนักงานเขตทุ่งครุ (ทค) บรรจุอยู่ภายในภาชนะรองรับน้ำ (ครุ)

ความหมาย 
          พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ครองแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ได้ปราบปรามผู้รุกรานและทรงแผ่บารมีปกป้องคุ้มครอง
แผ่นดิน
          สีเขียว หมายถึง แผ่นดินทุ่งครุซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผลนานาพันธุ์ ท้องทุ่งเขียวขจี ได้ด้วยไร่ นา เรือก สวน
          อักษรย่อ “ทค” บรรจุอยู่ในน้ำ “ครุ” เป็นภาชนะซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชัน ชาวบ้าน
ในสมัยโบราณใช้ครุน้ำเป็นภาชนะในการตักน้ำ ซึ่งในปัจจุบันหาดูได้ยาก จึงนำอักษรย่อ “ทค” มาบรรจุในครุน้ำ เพื่อแสดงความหมายของชื่อเขตทุ่งครุ

วิสัยทัศน์สำนักงานเขตทุ่งครุ
          เขตทุ่งครุ เป็นเขตน่าอยู่ชานเมือง บนพื้นฐานของการเกษตร การปศุสัตว์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

คำขวัญสำนักงานเขตทุ่งครุ
หลวงพ่อโอภาสีที่ศักดิ์สิทธิ์     สัตว์เศรษฐกิจ แพะ แกะ ไก่ ปลา
นกเขาชวาเสียงดี                 กล้วยไม้หลากสีนานาพันธุ์
มะม่วงนวลจันทร์เลิศรส         ส้มบางมดเลื่องชื่อลือนาม