ธรรมาภิบาลในภาครัฐ

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561
image
ธรรมาภิบาลในภาครัฐ

คำว่า ธรรมาภิบาล มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Good Governance คือ วิธีการที่ดีในการใช้อำนาจเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรขององค์การ ระหว่างฝ่ายตัวการ (Principal) และฝ่ายตัวแทน (Agency) ตลอดจนการวางระบบ กระบวนการบริหารงาน เพื่อควบคุมป้องกันการรั่วไหล พฤติกรรมไม่ถูกต้องเหมาะสม การเอาเปรียบ หรือการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมถึงการวางหลักเกณฑ์และมาตรการในการทำงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายและคุณค่าที่กำหนดไว้
สาเหตุที่ต้องมีการนำธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติราชการภาครัฐ มาจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ การทุจริต การไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน การทำงานแบบต่างคนต่างทำยึดกฎระเบียบเป็นหลัก ขาดความยืดหยุ่น ประชาชนขาดศรัทธาต่อตัวข้าราชการและต่อหน่วยงานภาครัฐ ประการสำคัญคือ มีการแทรกแซงทางการเมืองเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๔ (วรรคหนึ่ง) บัญญัติว่า บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หลักธรรมาภิบาลจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง ๘ คือ การมีประสิทธิผล การมีประสิทธิภาพ มีการตอบสนอง มีภาระความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส มีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจ มีหลักนิติธรรม มีความเสมอภาค และมุ่งเน้นฉันทามติ 
- หลักประสิทธิผล มีกระบวนการปฏิบัติงานและระบบงานที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงมีการติดตาม ประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
- หลักประสิทธิภาพ ให้องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติราชการตามภารกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม
- หลักการตอบสนอง สร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ รวมถึงตอบสนองความคาดหวังความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ
- หลักภาระรับผิดชอบ อยู่ในระดับที่สนองต่อความคาดหวังของสาธารณะและรับผิดชอบต่อปัญหาสาธารณะ
- หลักความโปร่งใส เปิดเผยตรงไปตรงมา ชี้แจงได้เมื่อมีข้อสงสัย และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันไม่ต้องห้ามตามกฎหมายได้อย่างเสรี สามารถตรวจสอบได้
- หลักการมีส่วนร่วม ร่วมแก้ปัญหา ร่วมการแก้ไข ร่วมในกระบวนการตัดสินใจและร่วมการพัฒนา
- หลักการกระจายอำนาจ มีอิสระตามสมควร โดยมุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจ การปรับปรุงกระบวนการ และเพิ่มผลิตภาพเพื่อผลการดำเนินงานที่ดีของส่วนราชการ 
- หลักนิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย
- หลักมุ่งเน้นฉันทามติ การหาข้อตกลงทั่วไป โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งต้องไม่มีข้อคัดค้านที่ยุติไม่ได้ในประเด็นสำคัญ ฉันทามติไม่จำเป็นต้องเป็นความเห็นพ้องโดยเอกฉันท์
เมื่อได้นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน จะเป็นพื้นฐานสร้างความเป็นธรรมในสังคม ทำให้เกิดการพัฒนา แก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กร ช่วยให้สังคมมีความเข้มแข็งในทุกด้าน ลดปัญหาการทุจริต ช่วยให้ระบบบริหารของรัฐมีความน่าเชื่อถือ ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ที่สำคัญเป็นมาตรฐานสากลที่บ่งชี้ถึงระดับการพัฒนาประเทศให้ได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งภายในและระหว่างประเทศ

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
  • 75.00%
  • 25.00%
ความคิดเห็น
0 รายการ