คลองบางลำพู

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใน พ.ศ. 2325 เพื่อเป็นการขยายเมืองออกไปทางทิศตะวันออก จึงโปรดให้ขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือ คือ บริเวณวัดสังเวชวิศยาราม (วัดบางลำพู) แล้วขุดทะลุถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ คือ บริเวณวัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) ขนาดของคลองเมื่อแรกสร้างยาว 85 เส้น 13 วา (ประมาณ 3,426 เมตร) กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) และมีความลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) และพระราชทานชื่อว่า "คลองรอบกรุง” แต่เนื่องจากลำคลองมีความยาว ชาวบ้านจึงนิยมเรียกชื่อคลองตามสถานที่สำคัญที่อยู่บริเวณคลอง โดยตั้งแต่ปากคลองบริเวณวัดสังเวชวิศยารามจนถึงบริเวณวัดสะเกศ หรือภูเขาทอง เรียกว่า “คลองบางลำพู” และจากวัดสระเกศจนถึงวัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) เรียกว่า “คลองวัดเชิงเลน” “คลองสะพานหัน” หรือ “คลองโอ่งอ่าง” 

ภาพที่ 1 (ด้านบน) แผนที่แสดงตำแหน่งคลองรอบกรุง (บางลำพู-โอ่งอ่าง)

ภาพที่ 2 (ด้านล่าง) คลองบางลำพูในสมัยรัชกาลที่ 5

(ที่มา : http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=275)

          ย่านบางลำพูนั้นมีวัดสังเวชวิศยารามวรวิหารเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาตั้งแต่ในอดีต ใกล้ๆ กันนั้นมีวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารและวัดสามพระยาวรวิหาร ซึ่งล้วนเป็นวัดที่สร้างก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น นอกจากนี้บางลำพูยังเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ โดยมีถนนข้าวสาร ถนนตานี ถนนรามบุตรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกทั้งยังมีป้อมพระสุเมรุ พิพิธบางลำพู และสวนสาธารณะที่สามารถชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดที่สวนสันติชัยปราการอีกด้วย

ภาพที่ 3 วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร

(ที่มา : http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=264)

ภาพที่ 4 วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

(ที่มา : https://thai.tourismthailand.org/Attraction)

ภาพที่ 4 วัดสามพระยาวรวิหาร

(ที่มา : http://www.thapra.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=38&Itemid=35)

ภาพที่ 5 ถนนข้าวสาร

ภาพที่ 6 ป้อมพระสุเมรุ

ภาพที่ 7 พิพิธบางลำพู

(ที่มา : https://www.museumthailand.com/th/museum/Pipit-Banglamphu-Museum)

ภาพที่ 8 สวนสันติชัยปราการ

ในปี 2566 สำนักงานเขตพระนครได้จัดทำโครงการ Food map รวมร้านดี ร้านเด่น พระนคร โดยมีการบูรณาการร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากพื้นที่เขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการที่มีชุมชนอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรือยมาจนเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น ชาวมอญ ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวแขกยะวา ชาวแขกอินเดีย และชาวอังกฤษ เพื่อตั้งถิ่นฐาน ค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ วัฒนธรรมอาหาร โดยวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่เขตพระนคร แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อาหารไทย อาหารจีน และอาหารแขก ในอดีตนั้นผู้คนแต่ละเชื้อชาติ มีวัฒนธรรมอาหารในรูปแบบเฉพาะกลุ่ม เผยแพร่ในครัวเรือน ต่อมาเมื่อพื้นที่เจริญขึ้น จึงได้มีการตั้งร้านอาหาร เพื่อจำหน่ายอาหาร เป็นการเผยแพร่แก่สาธารณชน ส่งผลให้ในพื้นที่เขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีร้านอาหารเก่าแก่เป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ร้านอาหารหลายร้านในพื้นที่เขตพระนครต้องปิดกิจการ ดังนั้นเพื่อเป็นการบันทึก รวบรวมร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครที่มีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่ไม่ให้สูญหาย และเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร ซึ่งบางร้านอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่เขตพระนคร

ภาพที่ 9 E-book กิน เดิน เพลินพระนคร

          จากการลงพื้นที่สำรวจร้านอาหารบริเวณย่านคลองบางลำพู และได้คัดเลือกร้านอาหารตามเกณฑ์ คือ เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครและมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่ สำนักงานเขตขอแนะนำร้านอาหาร ดังนี้

          สมทรงโภชนาเป็นร้านอาหารไทยตั้งอยู่บริเวณวัดสังเวชฯ มีเมนูที่มีชื่อเสียง คือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ขนมจีนซาวน้ำ และข้าวฟ่างเปียก นอกจากนี้ยังมีเมนูที่หาทานได้ยาก คือ แกงหมูสุโขทัย แกงสับนก และขนมอินทนิล (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 38-39)

ภาพที่ 10 ข้าวฟ่างเปียกจากร้านสมทรงโภชนา

          ขนมเบื้องแม่ฉลวยเป็นร้านขนมเบื้องสูตรโบราณ เปิดมานานกว่า 50 ปี อยู่บริเวณย่านบางลำพู จุดเด่นของร้านอยู่ที่การใช้สูตรดั้งเดิม โดยใช้แป้งถั่วทองไปคั่วและนำมาโม่ผสมกับข้าวเจ้า ส่วนตัวไส้จะมีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม สำหรับไส้หวานจะใส่ฝอยทอง งา และลูกพลับแห้ง ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันได้มีการใส่ลูกเกดเพื่อเพิ่มความเปรี้ยว ส่วนไส้เค็มเป็นการผัดรวมกันของกระเทียม พริกไทย รากผักชี และกุ้งแห้ง (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 41-42)

ภาพที่ 11 ขนมเบื้องแม่ฉลวย

          ข้าวแช่นายโด่ง เป็นข่าวแช่ตำรับเมืองเพชรบุรีที่ดัดแปลงมาจากอาหารมอญ ทำให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น โดยข้าวที่นำมาใช้เป็นข้าวขัดและมีการหุงขาวให้เม็ดเรียงสวย น้ำที่ใส่ข้าวเป็นน้ำลอยดอกไม้ ทำให้มีความหอม ส่วนเครื่องเคียงมีลูกกะปิ ไช้โป้วผัดหวาน ปลาผัดหวาน หมูฝอย และพริกหยวกยัดไส้ (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 43-44)

ภาพที่ 12 ร้านข้าวแช่นายโด่ง

          ข้าวต้มเพ่งเพ้งเป็นร้านข้าวต้มโบราณสไตล์จีนแต๋จิ๋ว เปิดมานานเกือบ 80 ปี มีเมนูอาหารที่หลากหลายสำหรับรับประทานกับข้าวต้ม โดยมีเมนูแนะนำ คือ หมูสับต้มเกี้ยมบ๊วยเป็นแกงจืดสไตล์จีนแต๋จิ๋วที่มีรสชาติเปรี้ยวและเค็ม และผัดผักบุ้งไฟแดงซึ่งเป็นเมนูประเภทผัดยอดฮิตของคนไทยและจีน (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 45-46)

ภาพที่ 13 ร้านข้าวต้มเพ่งเพ้ง

ภาพที่ 14 แผนที่แสดงสถานที่ท่องเที่ยว วัด และร้านอาหารย่านคลองบางลำพู

อ้างอิง

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ภูมิหลังบางลำพู ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_79142.

กานต์ภพ ภิญโญ. พิพิธบางลำพู โดย กรมธนารักษ์. คลองบางลำพู: จากคูพระนคร สู่สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=275.

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กิน เดิน เพลินพระนคร (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก https://online.anyflip.com/phuhj/hvhe/mobile/index.html.

ศรีศักร วัลลิโภดม, วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. พื้นที่ย่านชานพระนคร และคลองเมือง (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5097.