คลองคูเมืองเดิม

          คลองคูเมืองเดิมเป็นคลองสายเดียวกันกับคลองโรงไหม คลองหลอด และคลองตลาด ขุดในสมัยธนบุรี เริ่มจากด้านทิศเหนือ บริเวณโรงไหมหลวงจึงเรียกว่า “คลองโรงไหม” (ปัจจุบันเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า) ไปทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้บริเวณปากคลองตลาด จึงเรียกว่า “คลองตลาด” 

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงตำแหน่งของคลอง

(ที่มา : https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5097)

          บริเวณคลองคูเมืองเดิมนั้นเป็นเส้นทางสัญจรสายหลักของผู้คนภายในพระนคร เนื่องจากเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับคลองหลอด และแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าออกสู่เมืองชั้นนอกได้ โดยชุมชนบริเวณนี้ที่สำคัญ คือ ชุมชนสามแพร่ง ในอดีตชุมชนนี้เป็นที่ตั้งของวัง ข้าราชการ ข้าราชพริพาร และช่างฝีมือ ต่อมามีการสร้างถนนและตึกแถวสำหรับค้าขายขึ้น ย่านนี้จึงกลายเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ เนื่องจากเป็นย่านที่อยู่ระหว่างเมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก นอกจากนี้ในบริเวณสามแพร่งยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และมีวัดบุรณศิริมาตยารามและวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารเป็นศูนย์กลางของชุมชนในย่านนี้

 

ภาพที่ 2 กระทรวงมหาดไทย

(ที่มา : https://moi.go.th/moi/about-us)

ภาพที่ 3 วัดบุรณศิริมาตยาราม

(ที่มา : https://katin.dra.go.th/temple/view?id=29)

ภาพที่ 4 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

(ที่มา : http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-05/2014-10-29-02-26-23/2015-10-19-03-26-15/2015-10-19-03-46-52)

ในปี 2566 สำนักงานเขตพระนครได้จัดทำโครงการ Food map รวมร้านดี ร้านเด่น พระนคร โดยมีการบูรณาการร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากพื้นที่เขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการที่มีชุมชนอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรือยมาจนเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น ชาวมอญ ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวแขกยะวา ชาวแขกอินเดีย และชาวอังกฤษ เพื่อตั้งถิ่นฐาน ค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ วัฒนธรรมอาหาร โดยวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่เขตพระนคร แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อาหารไทย อาหารจีน และอาหารแขก ในอดีตนั้นผู้คนแต่ละเชื้อชาติ มีวัฒนธรรมอาหารในรูปแบบเฉพาะกลุ่ม เผยแพร่ในครัวเรือน ต่อมาเมื่อพื้นที่เจริญขึ้น จึงได้มีการตั้งร้านอาหาร เพื่อจำหน่ายอาหาร เป็นการเผยแพร่แก่สาธารณชน ส่งผลให้ในพื้นที่เขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีร้านอาหารเก่าแก่เป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ร้านอาหารหลายร้านในพื้นที่เขตพระนครต้องปิดกิจการ ดังนั้นเพื่อเป็นการบันทึก รวบรวมร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครที่มีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่ไม่ให้สูญหาย และเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร ซึ่งบางร้านอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่เขตพระนคร

ภาพที่ 5 E-book กิน เดิน เพลินพระนคร

          จากการลงพื้นที่สำรวจร้านอาหารบริเวณย่านคลองบางลำพู และได้คัดเลือกร้านอาหารตามเกณฑ์ คือ เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครและมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่ สำนักงานเขตขอแนะนำร้านอาหาร ดังนี้

          สมองหมูไทยทำ เป็นร้านเกาเหลาสมองหมู สูตรชาวจีนแคระ โดยมีเอกลักษณ์ คือ สมองหมู ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นปลา เต้าหู้ยัดไส้ เผือกทอด หนังปลาทอด กุนเชียงหมู และกุนเชียงตับ สมองหมูนั้นเป็นสิ่งที่หากินได้ยาก เนื่องจากต้องสดและทำเป็น หากทำไม่เป็นจะคาวมาก

ภาพที่ 6 เมนูเกาเหลาสมองหมูและกุนเชียงตับ

          อุดมโภชนา เป็นร้านอาหารจีนแต้จิ๋วเปิดขายมานานกว่า 80 ปี จุดเด่นของร้าน คือ รสชาติอร่อยทานง่าย และยังคงกรรมวิธีแบบดั้งเดิมไว้ เมนูแนะนำ คือ สตูเนื้อน่องลายและเอ็นแก้ว และแกงกะหรี่เนื้อ/หมู (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 25-26)

ภาพที่ 7 เมนูสตูเนื้อน่องลายและเอ็นแก้ว และแกงกะหรี่เนื้อ/หมู

          ยี่เหลา ตั้งจั้วหลี เป็นภัตตาคารอาหารจีนแต้จิ๋ว เปิดมานานกว่า 70 ปี ด้วยรสชาติและคุณภาพวัตถุดิบ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า จุดเด่นของร้าน คือ เมนูฮื่อแซหรือปลาดิบจีนที่หาทานได้ยาก (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 27-29)

ภาพที่ 8 เมนูฮื่อแซหรือปลาดิบจีน

          “นัฐพรไอศกรีมกะทิสด” เป็นร้านไอศกรีมโบราณเปิดมานานกว่า 50 ปี ด้วยรสชาติและการพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบ รวมถึงการพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครองใจลูกค้ามาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีรสชาติให้เลือกชิมหลายรส ได้แก่ รสกะทิ รสมะพร้าวอ่อน รสวนิลา รสนมสด รสช็อกโกแลต รสชาไทย รสมะม่วงมหาชนก รสชาเขียวมัทฉะ รสชาเขียวเก็นไมฉะ และชาเขียวโฮจิฉะ (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 30-31)

ภาพที่ 9 ไอศกรีมจากร้านนัฐพรไอศกรีมกะทิสด

          “ละเมียด” เป็นร้านขนมเบื้องสูตรโบราณ เปิดมานานกว่า 80 ปี ขายทั้งขนมเบื้องไทยและขนมเบื้องญวน จุดเด่นของขนมเบื้องร้านนี้ คือ เป็นสูตรโบราณทั้งตัวแป้งที่โม่เอง และตัวไส้ (หวานและเค็ม) (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 32-33)

ภาพที่ 10 ร้านละเมียด

ภาพที่ 11 แผนที่แสดงสถานที่ท่องเที่ยว วัด และร้านอาหารย่านคลองคูเมืองเดิม

อ้างอิง

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กิน เดิน เพลินพระนคร (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก https://online.anyflip.com/phuhj/hvhe/mobile/index.html.

ศรีศักร วัลลิโภดม, วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. พื้นที่ย่านชานพระนคร และคลองเมือง (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5097.

เทพชู ทับทอง. คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”?(ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_12296.

ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. ชุมชนคลองคูเมืองเดิมสามแพร่ง (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เข้าถึงได้จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php/2014-10-27-08-52-32/2015-10-19-07-55-20.