คลองผดุงกรุงเกษม

                คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2394 มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขณะเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่พระสมุหกลาโหม เป็นแม่กองก่อสร้าง ขุดคลองกว้าง 10 วา ลึก 6 ศอก ยาว 137 เส้น 10 วา เท่ากับกว้าง 20 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 5,500 เมตร เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ไปออกปากคลองอีกด้านบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา เพื่อเป็นการขยายเมือง เนื่องจากประชาชนออกไปตั้งบ้านเรือนนอกกำแพงพระนครกันมากขึ้น และเพื่อช่วยป้องกันข้าศึกศัตรู เป็นแนวป้องกันพระนครอีกชั้นหนึ่ง

ภาพที่ 1 ปากคลองผดุงกรุงเกษมย่านตลาดน้อย ปัจจุบันคือบริเวณริเวอร์ซิตี้-ท่าน้ำสี่พระยา

(ที่มา : จาก https://walk.in.th.)

                   จากนั้นได้สร้างป้อมตามแนวคลองขึ้นอีกจำนวน 8 ป้อม มีชื่อว่า ป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมปิดปัจจนึก ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ป้อมผลาญไพรีราบ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ป้อมทำลายปรปักษ์ ป้อมหักกำลังดัษกร และป้อมมหานครรักษา โดยหากเกิดศึกสงคราม ก็จะใช้ไม้แก่นหรือไม้ลำปักเป็นแนวกำแพงเชื่อมแต่ละป้อมเข้าด้วยกัน ภายหลังเมื่อมีการขยายเมืองออกไปอีก ป้อมเหล่านี้จึงถูกรื้อในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาคลองผดุงกรุงเกษมได้กลายเป็นเส้นทางสัญจรและเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ซึ่งเชื่อมย่านเศรษฐกิจการค้าบริเวณเทเวศร์ นางเลิ้ง มหานาค หัวลำโพง ตลาดน้อย และสีพระยา มีตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ และโรงสี มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขายตลอดสองฝั่งคลอง โดยเข้ามาจอดอยู่ตามริมคลองเป็นระยะ เช่น มีเรือค้าข้าว อิฐ ปูนขาว และกระเบื้อง บริเวณปากคลองตอนเหนือ (บริเวณวัดเทวราชกุญชร) ลงไปถึงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ นางเลิ้ง มีเรือผลไม้บริเวณมหานาค มีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตในประเทศและมาจากประเทศจีน 

ภาพที่ 2 คลองผดุงกรุงเกษม บริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5

(ที่มา : จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_38299)

                    ในปัจจุบันย่านคลองผดุงกรุงเกษมยังคงเป็นย่านพาณิชกรรมที่สำคัญ เนื่องจากมีตลาดเทวราช หรือตลาดเทเวศร์ ตลาดรวมยาง ตลาดต้นไม้ รวมทั้งร้านค้า ร้านอาหารตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งริมคลอง อีกปัจจัยหนึ่ง คือ การเดินทางที่สะดวก สามารถเดินทางได้ทั้งรถสาธารณะ และทางเรือ (เรือโดยสารเจ้าพระยาและเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม) และบริเวณโดยรอบยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น วังพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (วังเทเวศร์) ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์การสหประชาชาติ วัดนรนาถสุนทริการาม วัดอินทรวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยาราม 

ภาพที่ 3 ตลาดต้นไม้

 

ภาพที่ 4 วังพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (วังเทเวศร์)

ภาพที่ 5 ธนาคารแห่งประเทศไทย

(ที่มา : จาก https://www.bot.or.th/)

ภาพที่ 6 องค์การสหประชาชาติ

(ที่มา : จาก https://www.thaiembassy.be/2020/12/10/thailand-and-the-un-75-years-and-counting/?lang=en)

ภาพที่ 7 วัดนรนาถสุนทริการาม

(ที่มา : จาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/web-temple)

ภาพที่ 8 วัดอินทรวิหาร

ภาพที่ 9 วัดมกุฏกษัตริยาราม

(ที่มา : จาก https://phoenixlava.com/)

 

          ในปี 2566 สำนักงานเขตพระนครได้จัดทำโครงการ Food map รวมร้านดี ร้านเด่น พระนคร โดยมีการบูรณาการร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากพื้นที่เขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการที่มีชุมชนอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรือยมาจนเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น ชาวมอญ ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวแขกยะวา ชาวแขกอินเดีย และชาวอังกฤษ เพื่อตั้งถิ่นฐาน ค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ วัฒนธรรมอาหาร โดยวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่เขตพระนคร แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ อาหารไทย อาหารจีน และอาหารแขก ในอดีตนั้นผู้คนแต่ละเชื้อชาติมีวัฒนธรรมอาหารในรูปแบบเฉพาะกลุ่ม เผยแพร่ในครัวเรือน ต่อมาเมื่อพื้นที่เจริญขึ้น จึงได้มีการตั้งร้านอาหาร เพื่อจำหน่ายอาหาร เป็นการเผยแพร่แก่สาธารณชน ส่งผลให้ในพื้นที่เขตพระนครเป็นพื้นที่ที่มีร้านอาหารเก่าแก่เป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ร้านอาหารหลายร้านในพื้นที่เขตพระนครต้องปิดกิจการ ดังนั้นเพื่อเป็นการบันทึก รวบรวมร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครที่มีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่ไม่ให้สูญหาย และเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร ซึ่งบางร้านอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่เขตพระนคร

          จากการลงพื้นที่สำรวจร้านอาหารบริเวณย่านคลองผดุงกรุงเกษม และได้คัดเลือกร้านอาหารตามเกณฑ์ คือ เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครและมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่ สำนักงานเขตขอแนะนำร้านอาหาร จำนวน 4 ร้าน ได้แก่ ข้าวมันไก่มงคลชัย จิวเป็ดย่างปาท่องโก๋เสวย และลิ้มฮั่วเฮง

          เริ่มที่ร้านแรก “ข้าวมันไก่มงคลชัย” เป็นร้านข้าวมันไก่สูตรไหหลำ บริเวณย่านเทเวศร์ เปิดมานานกว่า 50 ปี ได้รับการสืบทอดสูตรกันมาตั้งแต่รุ่นอากง มีจุดเด่นอยู่ที่ข้าวซึ่งเป็นการหุงข้าวแบบดั้งเดิม โดยหุงข้าวไม่เช็ดน้ำและหุงด้วยถ่าน รวมถึงไก่ต้ม ซึ่งที่ร้านเลือกใช้เฉพาะไก่ตอน เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มที่เป็นสูตรเฉพาะ และน้ำซุปมะนาวดอง ด้วยรสชาติที่ยังคงความดั้งเดิม ทำให้ร้านข้าวมันไก่แห่งนี้เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ทางร้านยังมีเมนูข้าวเนื้ออบไหหลำที่หาทานได้ยาอีกด้วย (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 122-123)

ภาพที่ 10 อาหารจากร้านข้าวมันไก่มงคลชัย

          ร้านต่อมา คือ “จิวเป็ดย่าง” เป็นร้านเป็ดย่างสูตรกวางตุ้ง อยู่ในตรอกวัดอินทร์ เปิดมานานกว่า 50 ปี จุดเด่นของร้านอยู่ที่การหมักเป็ดด้วยเครื่องเทศนานาชนิด ทำให้เป็ดย่างมีกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่นสาป รวมถึงการใช้เตาถ่าน เพื่อช่วยเพิ่มความหอมของซอสที่ใช้ราดข้าวหน้าเป็ดหรือบะหมี่หน้าเป็ด ซึ่งเป็นเมนูแนะนำของร้าน (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 124-125) นอกจากเมนูเป็ดย่างที่ขึ้นชื่อแล้ว ทางร้านยังมีเมนูข้าวหน้าหมูแดงหมูกรอบและบะหมี่หมูแดงหมูกรอบที่อร่อยไม่แพ้กันอีกด้วย

ภาพที่ 11 อาหารจากร้านจิวเป็ดย่าง

          ร้านที่สาม “ปาท่องโก๋เสวย” เป็นร้านปาท่องโก๋สูตรแต้จิ๋ว เปิดมานานกว่า 70 ปี มี 2 สาขา คือ สาขาเทเวศร์ และสาขาบางลำพู แต่เดิมร้านชื่อว่า “ปาท่องโก๋โต้รุ่ง” ตั้งอยู่แถวสนามหลวง ปาท่องโก๋ของร้านนั้นเป็นที่ชื่นชอบของเจ้านายในรั้วในวัง จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่าปาท่องโก๋เสวย เมนูของร้านมีทั้งปาท่องโก๋แบบดั้งเดิม ทานคู่กับสังขยา และแบบฟิวชั่น เป็นปาท่องโก๋หน้าต่างๆ เช่น หน้าหมูแดง หน้าไก่ หน้ายำแห้ง (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 126-127)

ภาพที่ 12 อาหารจากร้านปาท่องโก๋เสวย

(ที่มา : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 127)

ร้านสุดท้าย “ลิ้มฮั่วเฮง” หรือชื่อในภาษาไทย “ก๋วยเตี๋ยวปริญญา” เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวสูตรแต้จิ๋ว เปิดมานานกว่า 94 ปี ตั้งอยู่ย่านเทเวศร์ ริมคลองผดุงกรุงเกษม เมนูเด็ดของร้าน คือ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ซึ่งทางร้านใส่ทั้งลูกชิ้นกลม เกี๊ยวปลา และปลาเส้น โดยลูกชิ้นปลานั้น ทำจากปลาทะเลแท้ๆ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า และทางร้านยังเสิร์ฟน้ำชา รสชาติอ่อน มีกลิ่นหอม เหมาะกับการทานคู่กับก๋วยเตี๋ยวอย่างยิ่ง (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2566: 128-129)

ภาพที่ 13 อาหารจากร้านลิ้มฮั่วเฮง

ภาพที่ 14 แผนที่แสดงสถานที่สำคัญ วัด และร้านอาหารย่านคลองผดุงกรุงเกษม

อ้างอิง

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กิน เดิน เพลินพระนคร. พิมพ์ครั้งที่ 1. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2566.

ศิลปวัฒนธรรม, 2563. “ภูเขาทอง” กองอิฐใหญ่ที่ถูกทิ้งร้าง มูลเหตุการขุด “คลองผดุงกรุงเกษม” ป้องกันพระนคร. ค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_38299.

เดินไชน่าทาวน์, 2565. คลองผดุงกรุงเกษม. ค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566, จาก https://walk.in.th.

โรงเรียนเทพศิรินทร์. ทัวร์รอบคลองผดุงฯ “งานบูรณาการ คลองผดุงกรุงเกษม” ม.5/3 ฝ่าย สังคม.ค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566, จาก https://phadungcanal.tripod.com/social_phadung_th.htm.